โดย ชูพินิจ เกษมณี

            สำหรับผู้ที่สนใจว่า IMPECT มีความเป็นมาอย่างไร คงจะต้องกล่าวถึงบุคคลหนึ่งที่เป็นผู้ผลักดันในเบื้องแรก เขาคือ Dr. Leo Alting von Geusao นักมานุษยวิทยาชาวดัทช์ ที่เจ้าหน้าที่รุ่นเก่า ๆ ของ IMPECT เรียกกันว่า อาจารย์เลียว ชีวิตของอาจารย์เลียวมีสีสันมากจนถ้านำไปเขียนเป็นนิยายก็คงน่าติดตามมาก เลียวเกิดที่กรุงเฮ็ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1925 ถ้าเลียวมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบันก็คงอายุ 97 ย่าง 98 ปี แต่โชคไม่ดี เลียวเสียชีวิตเมื่อปี 2002 ด้วยอายุ 77 ปี มีข้อความมรณานุสรณ์ที่พิมพ์ลงในเว็บชื่อ City Life Chiang Mai เขียนถึงเลียว ว่า:

เลียว อัลติง ฟอน เกอเซา เป็นผู้ชายพิเศษ ที่เกิดในครอบครัวทหารชั้นสูงชาวดัทช์ เป็นนักสังคมนิยม มีการศึกษาสูง มีอาชีพเริ่มต้นเป็นพระในโบสถ์แคธอลิก แต่ยุติที่การเป็นนักมานุษยวิทยาสังคมผู้ที่ได้สละออกจากองค์การศาสนา ชายผู้มีความซับซ้อนผู้นี้จักไม่มีวันถูกลืมโดยบรรดาผู้ที่รู้จักเขา และมรดกงานของเขากับชาวอ่าข่าจะให้ทั้งรากฐานสำหรับนักวิชาการอื่น ๆ ที่จะทำตามและวางตำแหน่งของชาวอ่าข่าลงในบริบททางประวัติศาสตร์ซี่งควรจะช่วยให้พวกเขามีอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น ‘จาก City Life Chiang Mai, 2002’

            ในวัยหนุ่ม เลียวมีประสบการณ์กับการรุกรานของเยอรมันและการถูกกดขี่ต่าง ๆ นานาในสงครามโลกครั้งที่สอง จนทำให้เขาเกิดความเห็นอกเห็นใจพวกผู้ด้อยโอกาส และเราสามารถพูดได้ว่า เลียวเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ชาวอ่าข่ายกเลิกธรรมเนียมการกำจัดลูกแฝดได้

            ในปี พ.ศ. 2532 เลียวได้เป็นผู้นำให้มีการจดทะเบียน “มูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาชาวเขาในประเทศไทย” อันที่จริงภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “Mountain People for Culture and Development” และเรียกชื่อย่อว่า MPCD ที่ในเวลาต่อมา ได้เพิ่มคำว่า Education เข้ามาในชื่อองค์กร เป็น MPCDE โดยที่เลียวเป็นนักมานุษยวิทยาที่ผูกพันกับชาวอ่าข่าอย่างลึกซึ้ง จนได้แต่งงานกับหญิงสาวอ่าข่าและได้เป็นลูกเขยของชาวอ่าข่าในที่สุด เลียวเป็นนักมานุษยวิทยาที่เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ห้องสมุดเล็ก ๆ ของเขามีนักวิชาการต่างชาติวนเวียนกันเข้าไปค้นคว้าอยู่เนือง ๆ

            งานของ MPCDE ในเวลานั้นจำกัดอยู่ในแวดวงของชาวอ่าข่าเท่านั้น จนวันหนึ่ง ผมทัก เลียวว่า ชื่อมูลนิธิคือ “คนภูเขา” (Mountain People) น่าจะหมายรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ด้วยที่นอกเหนือจากอ่าข่า ในเวลาต่อมาไม่นาน เขาบอกผมว่า ที่ผมเสนอแนะไว้นั้น เขาได้ทำแล้ว คือได้พัฒนาโครงการชื่อ Inter-Mountain Peoples Education and Culture in Thailand หรือ IMPECT ในปี 2534 ที่ขณะนั้น เป็นโครงการวิจัยบนพื้นที่สูงที่ครอบคลุมหลายกลุ่มเผ่า หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันผลักดันให้โครงการ IMPECT จดทะเบียนเป็นสมาคม และขอให้ผมทำหน้าที่เป็นนายกสมาคมในระยะเริ่มต้น โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้อนุญาตให้จัดตั้ง “สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย” เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2536 และจดทะเบียนเป็นสมาคมฯ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2536

            นับจากวันจดทะเบียนเป็นสมาคมที่มีคณะกรรมการก่อตั้งเพียง 5 คน ปัจจุบัน คณะกรรมการสมาคม IMPECT มีจำนวน 21 คน ที่เป็นผู้แทนมาจาก 12 กลุ่มชาติพันธุ์ ตามที่นายทะเบียนสมาคมจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้การรับรองไว้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 และจากเดิมที่ IMPECT ทำงานกับเพียง 6 กลุ่มชาติพันธุ์ ปัจจุบันได้ครอบคลุมถึง 12 กลุ่ม และมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 3,539 คน รวมกับสมาชิกระดับเครือข่ายอีก 12 เครือข่ายของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

            การพัฒนางานของสมาคม IMPECT ในระยะแรกนี้ เราต้องให้เครดิตแก่ NOVIB ซึ่งเป็นแหล่งทุนหลักจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งให้หลักประกันทั้งในการดำเนินกิจกรรมและความต่อเนื่องของบุคลากรเป็นเวลากว่าสิบปี จนกระทั่ง NOVIB ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายไปสนับสนุนงานในทวีปอื่น งานสนับสนุนประเทศไทยจึงยุติลง อย่างไรก็ตาม IMPECT ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทั้งจากต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ และในระยะหลังยังรวมแหล่งทุนในประเทศไทยด้วย รวมทั้งการมีองค์กรพันธมิตรหลายองค์กรที่ร่วมงานกันมาโดยตลอด

เนื่องจากสมาคม IMPECT มีเจ้าของโดยสมาชิกภาพ แต่การประชุมสมาชิกประจำปีไม่สามารถจัดโอกาสให้สมาชิกทั้งสามพันกว่าคนเข้าร่วมประชุมได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการจัดส่งสมาชิกจำนวนหนึ่งของแต่ละเผ่าที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมประชุมทั้งโดยการเข้าร่วมประชุมเป็นตัวบุคคลและโดยการประชุมออนไลน์

            แม้กระนั้น ชนเผ่าพื้นเมืองทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของ IMPECT ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาและปัจจัยคุกคามในเชิงโครงสร้างและการปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่มีรากฐานมาจากความไม่เข้าใจในวิถีชีวิตตามประเพณีของประชาชน การขาดข้อสนเทศและความรู้ที่มีหลักฐานยืนยันในภาคราชการ การติดยึดไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากความเป็นสังคมเอกลักษณะ (Homogeneous Society) มาสู่ความเป็นสังคมพหุลักษณะ (Heterogeneous Society) และการใช้อำนาจตัดสินใจของรัฐเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ การที่ IMPECT ทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองมาถึง 30 ปี จึงเสมือนหยดน้ำเพียงไม่กี่หยดในทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล

            กระนั้นก็ตาม ภายใต้การกำกับติดตามของสมาชิก สมาคม IMPECT ยังคงมุ่งมั่นที่จะมีส่วนเสริมสร้างสังคมที่มีความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิที่สืบทอดจากบรรพชน และสิทธิของสิ่งแวดล้อม และยังแสวงหาความร่วมมือทั้งจากระดับการเมืองและภาคราชการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในแบบสังคมพหุวัฒนธรรม นอกจากนี้ เราจักต้องมองเห็นความเชื่อมโยงจากอดีต-สู่ปัจจุบัน-และสู่อนาคต อันเป็นความหวังของ 30 ปี IMPECT