ประเสริฐ พนาไพโรจน์
“ตอนเด็กผมจะหักกิ่งไม้มาวาดบนพื้นดินระหว่างที่เฝ้าวัวกินหญ้า เพราะไม่มีกระดาษและดินสอให้วาด โตขึ้นผมจับพู่กัน,ไม้ปั้นและสีมาสร้างงานศิลปะ ศิลปะไม่ได้แบ่งแยกว่าผมเป็นชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติใด ศิลปะสอนให้ผมรู้จักกับชีวิต”
ณ ชุมชนกะเหรี่ยงสะกอว์ หมู่บ้าน “บ้านแม่ระเมิงโกร” หมู่ 14 ตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่อยู่ท่ามกลางผืนป่าที่มีภูเขาล้อมรอบมีแม่น้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีฝูงนกหลากหลายสายพันธุ์ที่ส่งเสียงร้องก้องไปทั้งป่า ชุมชนผมไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีคลื่นสัญญาณโทรศัพท์ แต่เต็มไปด้วยความเชื่อและวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยงสะกอว์ ในการอยู่ร่วมกับผืนป่าและเป็นบ้านเกิดของผม
ผมชื่อประเสริฐ พนาไพโรจน์ ชื่อเล่นรถตู้ เรียนจบสาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในวัยเด็กผมเต็มไปด้วยคำถามว่าตัวตนของผมคือใคร ทำไมถึงต้องประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ
ทำไมผู้เฒ่าจึงต้องเรียกขวัญในตอนที่ผมไม่สบาย ทำไมพ่อแม่และผู้เฒ่าถึงได้สอนให้ตระหนักถึงการดูแลรักษาผืนป่าที่บรรพชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้อุดมสมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการค้นหาตัวตนและเรียนรู้กับสิ่งที่มีมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมและความเชื่อของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอว์
การเติบโตท่ามกลางความเชื่อเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งลี้ลับ เชื่อกันว่าป่าคือชีวิตเมื่อป่ายังมีคนก็ยังอยู่ เพราะป่าเป็นทั้งบ้านและที่ทำมาหากิน ป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนปกาเกอะญอบ้านแม่ระเมิงโกรซึ่งแยกออกจากกันไม่ได้
ประสบการณ์ตรงที่ผมได้เห็นและเข้าร่วมพิธีกรรมมาตั้งแต่เด็ก ผมเห็นความสวยงามที่เกิดจากความสัมพันธ์ของคนกะเหรี่ยงกับธรรมชาติ ผมจึงเริ่มสนใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีของคนกะเหรี่ยง
เมื่อการศึกษาคืออุปสรรคในการเติบโตในวงการศิลปะ
ด้วยความที่เป็นชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจึงเป็นอุปสรรคที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายคนไม่กล้ามาศึกษาหาความรู้ เพราะต้องเจอกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง สังคมที่มองเราเป็นคนแปลกหน้า การปิดบังซ่อนเร้นจึงเกิดขึ้นในใจ ไม่กล้าที่จะเปิดเผยตัวตน ไม่กล้าที่จะบอกผู้คนในสังคมว่าฉันเป็นคนกะเหรี่ยง
ศิลปะคือสิ่งเดียวที่จะถ่ายทอดตัวตนและเอกลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงในตัวผม การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะทุกชิ้นงานที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงเอกลักษณ์และตัวตนได้เริ่มต้นขึ้น และถือเป็นสิ่งจุดประกายให้ผมเดินออกจากกำแพงในการปิดบังซ่อนเร้น และกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนว่าผมคือชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของคนกะเหรี่ยง ส่งผลให้ผู้คนในสังคมได้เข้าใจประเพณีวัฒนธรรม ผ่านผลงานศิลปะมากกว่าที่ผู้อื่นเล่าต่อกันมาเป็นทอด ๆ ว่าคนชาติพันธุ์เป็นคนตัดไม้ทำลายป่า คนชาติพันธุ์เผาป่าก่อให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศ คนชาติพันธุ์ทำลายแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
การสร้างสรรค์งานศิลปะชาติพันธุ์กะเหรี่ยงไม่ได้มีเพียงผมคนเดียว แต่ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่สนใจและทำงานศิลปะเกี่ยวกับวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุยกับ อนุภาพ มโนรมสุจริต หรือพี่กบ ที่ทำงานศิลปะกะเหรี่ยงมาหลายสิบปี และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในการทำงานศิลปะ
“ผมคิดว่าในหมู่ชาวกะเหรี่ยงเรายังเข้าไม่ถึงงานศิลปะมากนัก ไม่ได้เข้าใจถึงสิ่งที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้สื่อออกมา ไม่รู้ความหมายมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าเราทำอะไรอยู่”
พี่กบเล่าต่อว่าเคยไปร่วมงานกะเหรี่ยงแห่งหนึ่ง มีคนกะเหรี่ยงคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าของงานศิลปะ มองว่าเป็นสิ่งที่ทำไปก็เหนื่อยเปล่า
“พี่คิดกลับกันว่า ถ้าไม่ทำงานศิลปะแล้วเด็กรุ่นใหม่จะหลงลืมวัฒนธรรมตัวเอง อย่างน้อยเราก็ปลูกฝังให้คนกะเหรี่ยงหันมาจับกลุ่มกันและอนุรักษ์วัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย”
พี่กบเล่าว่านับวันวัฒนธรรมกะเหรี่ยงกำลังหายไป เพราะคนกะเหรี่ยงและคนเมืองไม่เห็นคุณค่า คนกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจใส่เสื้อกะเหรี่ยง พี่กบทำงานศิลปะโดยการวาดรูปบนเสื้อเพื่อเป็นสื่อให้คนกะเหรี่ยงหันกลับมาใส่เสื้อกะเหรี่ยงและอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ตัวเองมากขึ้น
“วิถีศิลปะที่เดินทางมาถึงตอนนี้เราทุกคนมีศักดิ์ศรี พี่ไม่ได้สนใจทำอาชีพอย่างอื่นแล้ว อาจมีท้อ เงินขาดมือ บางทีก็อยากกลับไปทำงานองค์กรที่มีเงิน แต่ด้วยจุดยืนที่เรามีก็จะทำงานศิลปะไปตลอดชีวิต”
พี่กบประกาศว่าจะยืนหยัดในอุดมการณ์นี้ ทำงานศิลปะทุกแขนงที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมกะเหรี่ยง อนาคตเขาอยากทำแกลเลอรี่เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมกะเหรี่ยง เพื่อเป็นสื่อให้คนเมืองและเยาวชนกะเหรี่ยงเข้าใจและหันกลับมาอนุรักษ์วัฒนธรรมตัวเอง
ย้อนกลับมาที่ตัวผมหลายชิ้นงานที่สร้างสรรค์ล้วนเกี่ยวข้องและไม่หนีไปจากวัฒนธรรมกะเหรี่ยง ผมสร้างสรรค์ผลงานเพราะศรัทธาในความเชื่อเรื่องธรรมชาติกับมนุษย์ จึงมีวิถีปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเคารพ
ความเคารพถือเป็นหัวใจของระบบความสัมพันธ์ระหว่างผมกับธรรมชาติ เพราะความเคารพนี้หมายถึงการปฏิบัติตนด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ ในความสัมพันธ์กับธรรมชาติจึงเต็มไปด้วยพิธีกรรมและข้อห้ามต่าง ๆ มากมายอันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงการ “ขอใช้” และการ “ขอบคุณ” ธรรมชาติ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดีงาม
ผลงานศิลปะของผมจะเดินทางเข้าไปในหัวใจของผู้คน ไม่ใช่เพียงชื่นชมความสวยงามด้านสุนทรียภาพของภาพวาดอย่างเดียว แต่จะเดินเข้าไปในหัวใจของคนดูว่าผมรักและเคารพธรรมชาติมากเพียงใด คำตอบไม่ใช่สิ่งที่ผมได้เล่าแต่เป็นผลงานศิลปะที่ผมทำ
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย: Diakonia ภายใต้โครงการ: Re-thinking Democracy – Trak
Disclaimer: This publication was produced with the financial support of Diakonia. Its contents are the sole responsibility of Ton Kla Indigenous Children and Youth Network (TKN) and Inter Mountain Peoples Education and Culture in Thailand Association (IMPECT) and do not necessarily reflect the views of Diakonia.
สนับสนุนกระบวนการฝึกอบรมโดย: