หมู่บ้านป่าคาสุขใจ เป็นหมู่บ้านของชาติพันธุ์อ่าข่า ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาดั้งเดิม บางส่วนเริ่มเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ และพุทธนิกายต่าง ๆ แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวสืบทอดความเชื่อแบบดั้งเดิมอยู่

ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ชาวอ่าข่าจะประกอบพิธี “มี้ ซ้อง ล้อ” หรือ พิธีกรรมเซ่นไหว้ศาลเจ้าที่ชุมชน ซึ่งจะทำหลังจากเสร็จพิธี ซ่อมแซมประตูหมู่บ้าน หรือ “ล้อ ข่อง อื้ม เออ”

พิธี “มี้ ซ้อง ล้อ”

คือ เป็นพิธีเซ่นไหว้ขอพรจากเจ้าที่ พระแม่ธรณี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ให้ช่วยปกปักรักษาคนและสิ่งมีชีวิตในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข บ้านป่าคาสุขใจ ได้นำพิธี “มี้ ซ้อง ล้อ” ตามความเชื่อดั้งเดิมของอ่าข่า มาเชื่อมโยงกับการจัดการป่า ต้นน้ำ และทรัพยากรรมธรรมชาติในชุมชนของตนเอง โดยบริเวณที่มีการประกอบพิธี “มี้ ซ้อง ล้อ” ชาวบ้านจะปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม่ให้ใครตัดไม้ หรือใช้เป็นพื้นที่เกษตรในบริเวณนั้น และมีการปลูกต้นไม้เสริมเพิ่มเติมบริเวณ “มี้ ซ้อง ล้อ” เป็นประจำทุกปี

นายอาก่อ หวุ่ยซือกู่ ผู้อาวุโสบ้านป่าคาสุขใจ เล่าว่าเดิมบ้านป่าคาสุขใจ เป็นพื้นที่รกร้างที่มีแต่หญ้าคาขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีต้นไม้ ไม่มีป่า เมื่อชาวบ้านได้มาตั้งหมู่บ้านที่นี่จึงได้ช่วยกันปลูกป่า ดูแลป่า ดูแลต้นน้ำ ด้วยการบวชป่าแบบอ่าข่า “มี้ ซ้อง ล้อ” พร้อมทั้งมีการทำแนวกันไฟเป็นประจำทุกปี จนสามารถพลิกฟื้นป่าหญ้าคาให้มีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่ากลับมา ความหลากหลายของพันธุ์พืชกลับมา ทำให้ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้จนถึงทุกวันนี้

และเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 บ้านป่าคาสุขใจได้ประกอบพิธี “มี้ ซ้อง ล้อ” ขึ้น และเป็นครั้งแรกที่ได้เชิญตัวแทนหน่วยงาน และหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาร่วมพิธี เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานวิถีดั้งเดิมของอ่าข่าร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก #สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT) #องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สลองนอก#มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และ #สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) #สำนัก6สร้างสรรค์โอกาส