“กะเหรี่ยง” เป็นคำที่หมายรวมถึง กลุ่มที่เรียกตนเองว่า ปกาเกอะญอ (จกอว์) โพล่ง (โผล่ว) กะยาห์ กะยัน และปะโอ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
การตั้งถิ่นฐานของประชากรกะเหรี่ยงในประเทศไทย
ชุมชนกะเหรี่ยง กระจายตัวตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตป่าในความหมายของรัฐ) ของ ๑๕ จังหวัดคือ ในภาคเหนือมี ๙ จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร แพร่ และสุโขทัย ในภาคกลางทางด้านตะวันตกมี ๖ จังหวัด ได้แก่อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ รวมประชากรทั้งหมดที่สำรวจในปี พ.ศ.๒๕๔๕ จำนวน ๓๕๒,๙๐๒ คน
โครงสร้างทางสังคม ระบบความเชื่อและระบบการปกครองชุมชนกะเหรี่ยง
ชาวกะเหรี่ยง มีทั้งที่นับถือทั้งดั้งเดิมคือนับถือผี (ศาสนาผี) ศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ โดยความเชื่อตามประเพณีนั้นชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกสรรพสิ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นเจ้าของและดูแลรักษาอยู่ ซึ่งจะเรียกรวม ๆ ว่า “ต่าที ต่าเตาะ” (เทพเจ้าแห่งสัจธรรม หรือสิ่งสูงสุด ซึ่งจะสถิตทุกหนทุกแห่ง) ชาวกะเหรี่ยงมีความเคารพธรรมชาติมาก เพราะเป็นแหล่งบันดาลความอุดมสมบูรณ์มาให้ สิ่งที่กะเหรี่ยงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวาอารักษ์ ถือเป็นวิญญาณที่ดี ควรยำเกรงและไม่ไปรบกวน
ระบบการปกครองสังคมชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ประกอบด้วยผู้นำหมู่บ้านที่มีบารมี คนในหมู่บ้านให้การยอมรับนับถือที่เรียกว่า ฮีโข่ (ผู้นำหมู่บ้านตามประเพณี) ซึ่งโดยธรรมเนียมจะเป็นผู้ที่ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้าน จะทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน ดูแลทุกข์สุข ตัดสินคดีความข้อพิพาท เช่น การพิพาทระหว่างหญิงชายก่อนแต่งงาน ฮีโข่ ร่วมกับผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะพิพากษาตัดสิน นอกจากนี้แล้ว ฮีโข่ เป็นผู้นำทำพิธีกรรมต่างๆ ของชุมชนต่อมาภายหลังมีผู้นำที่เป็นทางการเกิดขึ้น ปัจจุบันผู้นำของชนเผ่ากะเหรี่ยงมีลักษณะ คือ
(1) ลักษณะผู้นำดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ฮีโข่ ซึ่งสามารถสืบทอดตำแหน่งจากพ่อไปสู่ลูกโดยสายโลหิต ผู้นำประเภทนี้เป็นผู้ชาย มีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลลูกบ้านการประกอบพิธีกรรมและอบรมด้านจริยธรรมปัจจุบันมีบทบาทน้อยลงในแต่ละหมู่บ้านจะมีผู้ช่วยของฮีโข่อยู่ด้วยเรียกว่า ฮีข่อ
(2) ผู้นำทางการ มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้าน มีบทบาทหน้าที่ปกครองดูแลเกี่ยวกับงานพัฒนา และการติดต่อประสานกับภายนอก หรือทางราชการเป็นหลัก
ลักษณะครอบครัว
ครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันพื้นฐานของคนทุกกลุ่มในสังคม เพราะชีวิตเริ่มจากครอบครัว โดยที่ครอบครัวทำหน้าที่อบรมสั่งสอนสมาชิกใหม่ของครอบครัวเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เช่นเดียวกับครอบครัวทั่วๆไป ครอบครัวปกาเกอะญออยู่ด้วยกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของหญิงชาย
ผู้หญิงทำงานบ้าน หุงข้าว ตำข้าว ตักน้ำ ทำอาหาร เลี้ยงหมู ไก่ และ เก็บผักหักฟืน ส่วนผู้ชายส่วนใหญ่จะเป็นงานนอกบ้านซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง เช่น ไปไร่ไปนา ไถนา ล้อมรั้ว ต้อนวัวควายกลับบ้าน ตัดไม้ สร้างบ้าน เป็นต้น ส่วนงานอื่นๆ ที่สามารถช่วยกันได้ก็จะช่วยกันไป เนื่องจาก ชาวปกาเกอะญอจะนับถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิง ครอบครัวจึงถือวิญญาณบรรพบุรุษทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ด้วย แม้ว่าการสร้างบ้านเป็นหน้าที่ของผู้ชาย แต่จะถือว่าบ้านจะเป็นของฝ่ายหญิง หากสามีตายไม่ต้องรื้อบ้านทิ้ง แต่ถ้าภรรยาตายจะต้องมีการรื้อบ้านทิ้ง
การแต่งงาน
ชนเผ่าปกาเกอะญอถือ การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นความถูกต้อง และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หนุ่มสาวที่มาจากเครือญาติ เดียวกันไม่สามารถแต่งงานกันได้ พิธีแต่งงาน จะเป็นจุดเริ่มต้นของ พิธีบก๊ะ (พิธีเครือญาติ) ถ้ามีการทำผิดขนบธรรมเนียมถือเป็นการผิดกฎวิญญาณบรรพบุรุษ ทำให้กลายเป็นผีก๊ะหรือผีปอบเข้าสิงในวิญญาณของผู้กระทำผิดพิธีกรรมนั้นๆ แล้วไปสิงร่างคนอื่นอีก คนที่เป็นผีก๊ะจะเป็นที่น่ารังเกียจของสังคมปกาเกอะญออย่างยิ่ง สิ่งที่น่ากลัวสูงสุดของคนปกาเกอะญอคือการผิด “บก๊ะ”แล้วกลายเป็นผีก๊ะ มองในเชิงวิทยาศาสตร์ ความเชื่อเรื่องการไม่แต่งงานในเครือญาติเดียวกัน เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่ทำให้ผู้ที่เกิดมาใหม่มีความแข็งแกร่งและอยู่รอดได้ มองในเชิงสังคม การแต่งงานระหว่างสายเครือญาติทำให้เกิดการสมัครสมานสามัคคีในหมู่ชนเผ่า เพราะจะกลายเป็นระบบดองที่ขยายตัวต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
ระบบเศรษฐกิจและระบบการผลิตของชาวปกาเกอะญอที่สำคัญมีอยู่ 2 แบบ คือ
(1) การทำนาขั้นบันได ซึ่งทำให้บริเวณที่มีการทดน้ำได้ และจะต้องเป็นบริเวณที่ราบหุบเขา นาขั้นบันไดเป็นแหล่งทำกินที่ถาวรแสดงให้เห็นถึงการตั้งหลักปักฐาน
(2) การทำไร่หมุนเวียน ไร่หมุนเวียนเป็นวิถีการผลิตของชนเผ่าปกาเกอะญอที่เอื้อต่อธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่แสดงให้เห็นว่า คน สัตว์ป่า และป่าอาศัยอยู่ร่วมกันได้ การทำไร่หมุนเวียนไม่ทำลายระบบนิเวศน์หรือใช้สารเคมี เป็นแหล่งรวมพืชพันธุ์อันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุ์พืชที่เอื้อต่อทั้งคนและสัตว์ป่า การทำไร่หมุนเวียนทำให้ชุมชนเกิดความร่วมมือ ทำงานร่วมกันมีการลงแขกมีการละเล่นในระหว่างที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานด้วย ส่วนการเลี้ยงสัตว์ นอกจากชาวปกาเกอะญอจะทำนาขั้นบันไดและทำไร่หมุนเวียนแล้ว ยังมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปด้วย การเลี้ยงสัตว์ถือเป็นวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อประกอบพิธีกรรม และใช้แรงงานเป็นหลัก จะขายหรือฆ่ากินบ้างในยามที่ต้องการเงินและส่วนใหญ่สัตว์ที่เลี้ยงจะเป็นวัว ควาย หมู ไก่ บางหมู่บ้านมีการเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้าด้วย ในอดีตชนเผ่าปกาเกอะญอมีระบบการผลิตเพื่อยังชีพเท่านั้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่มีการผลิตเพื่อยังชีพ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการผลิตเพื่อขายบ้าง
ลักษณะการสร้างบ้าน
ลักษณะบ้านของปกาเกอะญอจะสร้างแบบมีการยกพื้นสูงมีใต้ถุนบ้าน บ้านจะสร้างด้วยวัสดุที่เป็นไม้ไผ่ จะกั้นด้วยฟาก จะมีมุงหลังคาด้วยใบจากใบตองตึง หญ้าคา ใบหวาย บนบ้านจะมีชานซึ่งเป็นที่วากระบอกไม้ไผ่สำหรับดื่มน้ำ อีกส่วนหนึ่งเป็นที่ทำงาน เช่น การทอผ้า เข้าไปข้างในบ้านจะมีเตาไฟอยู่ตรงกลาง มีแคร่แขวนอยู่เหนือเตาไฟเพื่อวางเครื่องครัวและตากแห้งอาหารบางอย่าง พร้อมทั้งเป็นที่เก็บพันธุ์พืช รอบๆ บริเวณเตาไฟจะเป็นที่นอนและที่เก็บของประจำบ้าน
อัตลักษณ์การแต่งกาย
การแต่งกายหญิง
การแต่งกายของสตรีปกาเกอะญอจะแบ่งออกเป็น 2 อย่าง
(1) เด็กหญิงและหญิงสาวพรหมจรรย์จะแต่งกายเป็นชุดทรงกระบอกสีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สาวโสดยังไม่ได้แต่งงาน ตามจารีตของปกาเกอะญอผู้ที่ยังมิได้แต่งงานจะสวมชุดขาวและไม่สามารถที่จะไปแต่งชุดสตรีที่แต่งงานแล้วได้เด็ดขาด หากมีหนุ่ม-สาวประพฤติผิดประเวณีก่อนแต่งงาน ผู้อาวุโสจะรีบจัดการให้มีการทำพิธีขอขมาเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกกันว่า “ต่าทีต่าเต๊าะ” แล้วจัดการให้แต่งงานโดยเร็วที่สุดมิเช่นนั้นคนในชุมชนจะเกิดล้มป่วยไม่สบาย หรือทำมาหากินไม่ขึ้น ไม่ได้ผล สัตว์เลี้ยงจะล้มตาย เป็นต้น
(2) การแต่งกายด้วยชุดขาวจะสิ้นสุดลงเมื่อแต่งงาน หญิงอยู่ในสถานภาพแต่งงานแล้ว จะแต่งตัวแบ่งออกเป็น 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเสื้อดำประดับด้วยลูกเดือย นุ่งซิ่นสีแดงมีลวดลายที่ทำมาจากสีธรรมชาติเรียกว่า “หนี่คิ” ผู้ที่มีสถานภาพเป็นแม่บ้านแล้ว ห้ามมิให้กลับไปแต่งชุดสีขาวเป็นอันขาด แม้ว่าสามีจะเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันไปแล้วก็ตาม แม้แต่จะลองแต่งชุดสาวโสดก็ไม่ได้เพราะชุดขาวจะใส่ได้เฉพาะผู้ที่เป็นสาวโสดเท่านั้น
(3) ผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงปกาเกอะญอในสมัยก่อนจะทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาวเดินด้วยลายสีแดง มีปล่อยชายผ้าทั้งสองข้างยาวประมาณ 1 คืบ หรือจะเป็นผ้าฝ้าย ทั้งสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้วจะโพกหัวเหมือนกัน แต่ปัจจุบันมักใช้ผ้าโพกหัวกันหลากหลาย ทั้งผ้าทอและหาซื้อจากตลาด บางครั้งเป็นผ้าขนหนูก็มี หญิงในอดีตจะใส่ตุ้มหูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หน่าดิ” มีการใส่สร้อยคอลูกปัดสีต่างๆที่คอ มีการคลุมแขนและขาด้วยที่เรียกว่า “จึ๊พล่อ ข่อพล่อ”
การแต่งกายของชาย
การแต่งกายของชายสมัยก่อนจะสวมเสื้อทรงกระบอกยาวเหมือนหญิงสาว แต่จะเป็นสีขาวปนแดงซึ่งทำมาจากสีธรรมชาติ ภายหลังการแต่งกายของชายจะมีอยู่ 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเสื้อทอสีแดง ท่อนล่างจะเป็นกางเกงสีดำหรือกางเกงสะดอ คาดศีรษะด้วยผ้าสีแดงหรือสีขาว