ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง (ที่ตนเองเรียก ที่คนอื่นเรียก: ทั้งภาษาไทย และEnglish)
ชื่อที่ตนเองเรียก : จิงเผาะ
ชื่อที่คนอื่นหรือคนทั่วไปเรียก : คะฉิ่น
ชื่อภาษาอังกฤษ : Kachins
ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
ชาวคะฉิ่นอพยพมาสู่ประเทศไทยจากรัฐฉานประเทศพม่า บางส่วนอพยพมาจากมลฑลยูนนานประเทศจีนพร้อมกับคนลีซู ลาหู่ และอาศัยอยู่ด้วยกันกับเผ่านั้น ๆ เมื่อ ๕๐ – ๖๐ ปีมาแล้ว แต่ที่อพยพมาเป็นกลุ่มเฉพาะชนเผ่าคะฉิ่นอย่างเดียวนั้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เข้ามาทางดอยลาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ไปอยู่ที่ดอยวาวี อ.แม่สรวย จ. เชียงราย แล้วอพยพมาอยู่ที่ปางมะเยา บ้านใหม่หมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่บ้านหนองเขียว เมื่อ ๒๕ ปีที่แล้ว คะฉิ่นมีความใกล้ชิดกับคนไทใหญ่ ลีซู ลาหู่ และอ่าข่า เนื่องจากอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาทิเบต – พม่าเช่นเดียวกัน ชนเผ่าคะฉิ่นมีการอาศัยอยู่ในสองจังหวัดของประเทศไทยได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยที่เชียงใหม่อยู่ที่ บ้านใหม่พัฒนา (คะฉิ่น) หมู่ ๑๔ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มีประชากรประมาณ ๗๐ หลังคาเรือน ๘๐๐ คน และบางส่วนก็อาศัยอยู่ที่ อ.พร้าว อ.ฝาง อ.ท่าตอน อ.ไชยปราการ อ. ดอยสะเก็ด และ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งมีการกระจายอยู่ในส่วนของ จังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ชนเผ่าคะฉิ่นในประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
ลักษณะครอบครัวของชนเผ่าคะฉิ่นนั้นส่วนมากเป็นครอบครัวขนาดกลางมีการอาศัยอยู่ประมาณสิบคนต่อหนึ่งครอบครัว มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อลูกชายโตขึ้นและได้คู่ครองแล้วก็จะไปสร้างครอบครัวใหม่อีกหลังหนึ่ง ส่วนเรื่องอำนาจในการตัดสินใจเรื่องราวต่าง ๆ ในครอบครัวของชนเผ่าคะฉิ่นนั้น ผู้ชายจะมีอำนาจในการตัดสินใจ มากกว่าผู้หญิง
โครงสร้างการปกครองและสังคม
ชนเผ่าคะฉิ่นเป็นชนเผ่าหนึ่งที่ให้เกียรติกับตำแหน่งที่สำคัญในชุมชน เวลามีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆก็ให้ผู้รู้หรือผู้ที่มีตำแหน่งเป็นผู้ประกอบพิธีเท่านั้น ส่วนคนอื่น ๆ หรือบุคคลทั่วไปจะไม่กล้าทำเพราะเกรงว่าจะทำผิดหรือทำไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลร้ายกับผู้ประกอบพิธีกรรม ครอบครัวหรือชุมชนก็เป็นได้ โดยตำแหน่งที่สำคัญในชุมชนของคะฉิ่น ได้แก่ ดังนี้
๑. ผู้นำหมู่บ้านหรือผู้นำการปกครองชื่อว่า “ ตั่ว ” มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล ความทุกข์สุขของชุมชนและตัดสินคดีความในชุมชน ตลอดจนการประสานงานกับหน่วยงานราชการหรือองค์กรจากภายนอกที่เข้ามาติดต่อประสานงานกับชุมชน รวมถึงมีอำนาจในการตัดสินใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
๒. หมอสวดพิธี หรือ “ ตึ่มซา ” ผู้มีหน้าที่ในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น การเลี้ยงผี เมื่อมีคนในชุมชนไม่สบายก็มักจะมาหา “ ตึ่มซา ” เพื่อให้ “ ตึ่มซา ” วิเคราะห์จะดูว่าจะต้องทำอย่าไร เมื่อรู้ว่าเหตุของการไม่สบายมาจากสาเหตุอะไร “ ตึ่มซา ” ก็จะช่วยทำพิธีแก้ให้ ส่วนเรื่องการสืบทอดตำแหน่ง ตึ่มซานั้นจะไม่มีการสืบตามบรรพบุรุษ แต่จะเป็นแบบการเรียนรู้เองหรือมาขอเรียนด้วยตนเอง คนที่สนใจก็จะไปดูเพื่อเรียนรู้ในช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมจริง หากวันธรรมดาไม่สามารถที่จะเรียนได้
๓. ผู้ช่วยหมอสวดพิธี หรือ “ ตึ่มจ่อง ” ทำหน้าที่ช่วยเตรียมของหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ให้กับ “ ตึ่มซา ” เวลาที่ “ ตึ่มซา ” ทำพิธีกรรมต่าง ๆ เสมือนคนคอยอำนวยความสะดวกในการทำพิธีกับ “ ตึ่มซา ” ทุกอย่าง
การแต่งตั้งตำแหน่งทางสังคมและวัฒนธรรม
ในเรื่องของการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญทางวัฒนธรรมของชนเผ่าคะฉิ่น ไม่มีการสืบทอดตามบรรพบุรุษ แต่เป็นลักษณะการเรียนรู้กันไป โดยผู้รู้จะสอนให้กับผู้ที่สนใจเรียนในช่วงที่มีการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น เวลาปกติไม่สามารถที่จะสอนหรือเรียนรู้ได้
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
เดิมทีชนเผ่าคะฉิ่นนับถือผีบรรพบุรุษ ผีเจ้าที่ ต่อมาหลังจากที่เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาแล้ว ชาวคะฉิ่นได้เปลี่ยนมาประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์แทนศาลเจ้าที่ เช่น พิธีกินข้าวใหม่ จะนำพันธุ์พืชที่จะปลูกเข้าร่วมในพิธี และหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็จะนำผลผลิตอย่างละเล็กละน้อยของแต่ละครอบครัวไปทำพิธีขอพรและขอบพระคุณพระเจ้าที่ได้ช่วยปกป้องรักษาให้มีผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
ชนเผ่าคะฉิ่นแต่เดิมมีอาชีพทำไร่ทำสวน ปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วดิน ถั่วแดง งา ฟักทอง ตอนนี้มีผลไม้ใหม่ที่ชาวบ้านนิยมปลูกคือเสาวรส มะม่วง อะวาคาโด รายได้หลักมาจากการปลูกข้าวโพด ถั่วดิน ถั่วดำ ส่วนรายได้รองก็ได้มาจากการรับจ้างทั่วไปหรือทอผ้า เย็บผ้าขาย
มรดกทางวัฒนธรรม
๑. การแต่งกาย
การแต่งกายของชนเผ่าคะฉิ่นจะเหมือนกันทุกวัย ไม่มีความแตกต่าง หมวกผู้ชายมีฟันหมูป่าเพื่อป้องกันศัตรู ให้เกรงกลัวเปรียบเสมือนมีอำนาจ ชุดของหญิงคะฉิ่นแขนยาวสีดำมีเม็ดเงินประดับตามอก ส่วนผ้าซิ่นของผู้หญิงทอเอง ปักลายเอง มีผ้าคาดเอว มีถุงน่อง ชนเผ่าคะฉิ่นมีความเชื่อเกี่ยวกับเม็ดเงินที่ประดับไว้ในเสื้อของผู้หญิงว่า เปรียบเสมือนพื้นดิน ผู้ชายชนเผ่าจึงมีการให้เกียรติผู้หญิงสูงเพราะเชื่อว่าหากไม่ให้เกียรติผู้หญิงจะทำการใดไม่ขึ้น ปลูกพืชผักก็จะไม่งอกงาม
๒. งานช่างฝีมือ
การทอผ้าของชนเผ่าคะฉิ่นมีหลากลายลาย ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเกตจากธรรมชาติหรือพืชพรรณต่าง ๆ เช่น ผักกูด ดูลวดลายจากพืช ผัก ผลไม้ แล้วนำมาเย็บเป็นลายสวยงาม หลังจากที่ทอผ้าเสร็จแล้วก็จะนำไปเย็บและปักเป็นลายต่าง ๆ ตามความสวยงาม ซึ่งจะใช้ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำไร่ทำสวนมาเย็บผ้า การทำเครื่องเงิน เมื่อก่อนมีความเชื่อว่าบ้านของชนเผ่าคะฉิ่นจะมีเงินออกเอง ใช้เอง ส่วนมากใช้เงินแท้ ตีกันเองเพื่อทำเป็นเครื่องประดับเอง รวมถึงเครื่องมือการเกษตรด้วย
๓. ศิลปะการแสดง
ศิลปะการแสดงของชนเผ่าคะฉิ่นมีหลากหลาย เช่น การแสดงถ่องก่า มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรส ซึ่งสมัยนั้นการเต้าถ่องก่าเป็นการเต้นแสดงความยินดีต่อผู้อาวุโส ผู้เลื่อนยศตำแหน่ง และชัยชนะจากการสู้รบ และการแสดงความยินดีต่อเจ้าภาพเช่นขึ้นบ้านใหม่งานแต่งงานเป็นต้น
๔. ภาษาแม่
ภาษาจิงเผาะเป็นภาษากลุ่มทิเบต-พม่า สาขา จิ่งพัว-โบโด-โกนยัก เป็นภาษามี วรรณยุกต์ ชาวไทตุรง ในรัฐอัสสัมพูดภาษาจิงเผาะสำเนียงที่ผสมกับภาษาไทซึ่งเรียกว่าภาษาสิงผ่อ ระบบกริยาในภาษาจิงเผาะมีการแสดงเครื่องหมายของประธานและกรรมตรง
๕. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
มะหน่าว เป็นสถานที่ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมด้านจิตใจของชนผ่าคะฉิ่นในหมู่บ้าน เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับการเต้นรำ เป็นที่รวมตัวของคนในชุมชน สำหรับคนที่เข้าไปในสถานที่แห่งนี้จะมีข้อห้ามที่สำคัญได้แก่
o ห้ามเดินออกไปหากการแสดงยังไม่เสร็จ
o ห้ามเดินผ่านแถวช่วงที่มีการแสดงอยู่
o ห้ามเอาอาหารเข้าไปกิน
o สำหรับคนเต้น เวลาเต้นต้องไม่แตกแถวหรือสลับแถวออกไปเพราะจะทำให้พิธีไม่สมบูรณ์
o ห้ามดื่มน้ำ ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่
สถานที่แห่งนี้ถือเป็นสถานที่ที่ชนเผ่าคะฉิ่นให้การเคารพและนับถือ คนนอกหรือคนจากที่อื่นเข้าไปในชุมชนหากเจอสถานที่นี้ต้องสำรวมและให้การเคารพที่สุด
บทสรุปส่งท้าย
ชนเผ่าคะฉิ่นเป็นชนเผ่าที่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว การดำรงชีวิตของชนเผ่าคะฉิ่นเป็นไปอย่างเรียบง่าย เดิมทีเป็นชนเผ่าคะฉิ่นนับถือศาสนาดั้งเดิม ปัจจุบันมีการนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ ศาสนาดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมา คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว เนื่องจากวีถีชีวิตปัจจุบันของชุมชนได้เปลี่ยนไป ความเป็นชนเผ่าที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า มีกฎจารีตในการปฏิบัติของชุมชนอย่างเคร่งครัด โดยการให้ความเคารพผู้อาวุโสหรือผู้นำในชุมชนสูง ส่วนประเด็นปัญหาต่างๆ จะเหมือนกับชนเผ่าทั่วไป เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ในป่า ที่ผิดกฎหมายของรัฐ ซึ่งจะทำอย่างไรเพื่อชนเผ่าได้อยู่อย่างสงบสุขและมีความยั่งยืนในวิถีชีวิตต่อไป