ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง
ดาราอาง หรือเรียกสั้นๆว่า ดา-อาง ชื่อภาษาอังกฤษ Dara-ang/ Ta’ang

ประวัติการศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอาง (Dara-ang) หรือที่เรียกตนเองสั้นๆว่า ดาอาง (Ta-ang) คำว่าดาราอาง มีความหมายว่า คนที่อาศัยอยู่บนหุบผาสูงชันบนภูเขาที่สูงหนาว และแปลแต่ละคำได้ดังนี้ ดา มีความหมายว่า บรรพบุรุษ / ปู่ ตา / ผู้ชาย ส่วนคำว่า รา นั้น มีความหมายว่า กิ่ง / ก้าน / สาขา และคำว่า อาง มีความหมายว่า ภูเขาสูง / ผาสูง / พื้นที่ราด ชัน / เหวลึก ส่วนคำว่า ดาอาง นั้นหมายถึง เจ้าแห่งภูผา หรือ เจ้าแห่งเวทย์
ดาราอางเป็นที่รู้จักหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่าปะหล่อง หรือ (ปอ หล่อง มาจากคนฉาน และ ปู่หลง มาจากคนจีน หมายถึง บรรพบุรุล่องมาตามสายน้ำบนภูเขาที่สูงหนาว) หรือ กนลอย (Kunloi) ซึ่งมีความหมายว่า คนภูเขา เป็นคำที่ชาวรัฐฉานใช้เรียกแทนคำว่าดาราอาง ส่วนชาวจีนนั้นเรียกดาราอางว่า หลง คนมังกรหรือ ลูกหลานของกษัตริย์แห่งพระอาทิตย์ (King of the Sun) เลือกที่จะอาศัยอยู่บนที่สูงอากาศหนาวเย็น เป็นชนเผ่าที่รักความสงบ และปลูกชา จนเป็นที่เลื่องลือ

ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้น ถิ่นฐานเดิม อาศัยอยู่บนดอยสูงที่ เมืองไทคง เมืองลูซี เฉินกาง อยู่ในเขตปกครองตนเองยูนาน (มณฑลยูนานสาธารณรัฐประชนจีนในปัจจุบัน) และกระจัดกระจายรวมกันอาศัยอยู่กับชนเผ่าฮั่นในเขตปกครองตนเองยูนานจนกระทั่ง ชาวไตเหนือ (ชาวรัฐฉาน) เห็นว่าดาราอางมีอำนาจอิทธิพลมาก รวมทั่งมีประชากรมาก ยากต่อการที่คิดจะสู้รบต่อกลอนและแย้งอำนาจดาราอางได้ ซึ่งคิดแผนการที่จะแย้งชิ่งอำนาจของชาวดาราอาง จึงร่วมมือกันกับชนเผ่าอื่นในแถบนั้น และได้ทำการสู้รบกับชาวดาราอาง จนเรียกการสู้รบครั้งนั้นว่า “สงครามล้างเผ่าพันธุ์ดาราอาง” จนชาวดาราอางต้อง กระจัดกระจายกันอยู่ ไปทั่วรัฐฉานและรัฐคะฉิ่น และในปัจจุบันยังมีชาวดาราอางหลงเหลืออยู่ (ถิ่นฐานเดิม)ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของยูนาน ดาราอางได้อพยพมาจากยูนาน (มณฑลยูนานสาธารณรัฐประชนจีนในปัจจุบัน) เข้าสู่รัฐฉานและรัฐคะฉิ่น เมื่อประมาณศตวรรษที่ ๑๑ (คริสต์ศักราช) เมื่อ ๙๑๐ ปี ที่ผ่านแล้ว และยังได้พูดถึงอีกไว้ว่า พระอาทิตย์และมังกร เป็นบรรพบุรุษของชาวดาราอาง และทุกครั้งที่มีการพูดถึง เรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวดาราอาง ก็จะเขียนไว้ว่าชาวดาราอาง ได้อพยพมาจากเขตปกครองตนเองยูนาน (มณฑลยูนานสาธารณรัฐประชนจีนในปัจจุบัน) และชาวดาราอางยังได้กระจัดกระจายไปทั่วในหลายรัฐ ของรัฐฉาน เป็นจำนานมาก จนสามารถปกครองรัฐ ตองบาย ได้โดยตนเอง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐฉาน หรือเป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของ นครรัฐแสนหวี หนึ่งใน 9 นครรัฐของอาณาจักรไตมาว ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนชาติไต (รัฐฉาน) ครั้งพุทธศักราช 1200 โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรในขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวี ในรัฐฉานประเทศพม่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ใน โกสัมพี คำว่า โกสัมพี เป็นการเรียก นครรัฐแสนหวี ประชากรดาราอางนั้น มีประมาณ1 ล้านคน ถิ่นที่อาศัยอยู่กันหนาแน่น คือบริเวณเทือกเขาในรัฐฉาน แถบ เมืองตองแปง หนำซัน , สีป้อ , เมืองมิต และทางตอนใต้ในรัฐฉานคือ เมืองเชียงตุง และยังกระจัดกระจายกันอยู่ทางตอนใต้ของ รัฐคะฉิ่น และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของ ยูนาน ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองเหนือสุดที่ชาวดาราอางอาศัยอยู่คือ เมืองหนำคำ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมือง ไทคง ลูซี ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่ชาวดาราอางเรียกว่าเมือง มาว ถัดลงมาคือ เมืองหนำซัน หนำดู โมโล เมืองมิต เมืองกอก เมืองโหลง หนำใส มานาม มานพัด จาวุโม ปูโหลง เจียงตอง และ ตากวาง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยที่ดอยอ่างขาง เขต อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 15 กิโลเมตร

โครงสร้างการปกครอง
การบริหารปกครอง ประกอบไปด้วย
๑. เฌา-ฮอ-คัม กษัตริย์
๒. ดา-บู-แซน ผู้ปกครองแคว้น
๓. ดา-จา-ฆาง ผู้ปกครองหัวเมือง (๒ หัวเมืองขึ้นไป)
๔. ดา-จี –แฆ เจ้าหัวเมือง
๕. คูน-รอ ผู้นำหมู่บ้าน
๖. ดา-จา-เรย เลขา
๗. ดา-อี-เตย-คาว-งาว ผู้แจ้งข่าวสาร/ประสาสัมพันธ์

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางมีความเชื่อเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่าวิญญาณจะมี ๓ ระดับด้วยกัน คือ
๑. กา-เปรา คือ เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์
๒. กา-นำ คือ เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ ลม ฯลฯ
๓. กา-ฌา คือ เป็นวิญญาณ เช่น สวน ไร่ ข้าว ฯลฯ

การนับถือศาสนา
ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางจะนับถือศาสนาพุทธ ทุกหมู่บ้านจะมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน หากว่าหมู่บ้านใดไม่มีวัด ก็จะถือว่ายังไม่เป็นหมู่บ้าน

พิธี เซ่นสรวงบูชา
การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ประกอบพิธีที่วัดหรือในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ ดา-ฌาน และการประกอบพิธีกรรมทางวิญญาณ เช่น พิธี ปิด-เปิด ประตูหมู่บ้าน คือ ดา-บู-เมิง เป็นผู้ประกอบพิธี

มรดกทางวัฒนธรรม

การแต่งกาย
การแต่งกายของชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้น มีความโดดเด่นไม่แพ้ชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ที่อาศัยอยู่บนภูเขาที่หนาว และสูงชัน สีสันและลวดลายการแต่งจะเน้นอยู่ ๓ สีเป็นหลัก ประกอบไปด้วย
๑. สีแดง หมายถึงหรือแทนสัญญาลักษณ์ ซี-แง (พระอาทิตย์) และ มา-อา-ฆราย (มังกร) เป็นบิดา
๒. สีขาว หมายถึงหรือแทนสัญญาลักษณ์ คูน-นา-ฆา (นางพญานาค) นา-บอห (ความบริสุทธิ์) และหนาง ลอย งึอน เป็นมารดา
๓. สีดำ หมายถึงหรือแทนสัญญาลักษณ์ อาว-บอห (มีมลทิน) การตัดขาดจาก เมิง-ฆาง-ราว (สรวงสวรรค์)

เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีของชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้น จะประกอบไปด้วย
๑. ดีง ลักษณะคล้ายๆ พิณสามสาย
๒. ดีง-โฆว ลักษณะคล้ายๆพิณ จะมีสายแล้วแต่ผู้ดีด (ปัจจุบันหาผู้เล่นยากมาก)
๓. วอ ปี่ (มีหัวเป็นน้ำเต้าเล็ก)
๔. ฆรึง กลอง
ฆรึง-โต่ง กลองยาว
ฆรึง-มัง-คุง กลองสั้น แต่เสียงจะทุ้มมากกว่ากลองยาว
๕. ฆู โม่ง ฆ้อง
มา-ฌาม มา-ฌามจะใหญ่เสียงจะทุ้มกังวานมากกว่า ฆู โม่ง
๖. แชห ฉาบ
๗. ซา-กวัน ใช้ปากเปาบังคับเสียง และใช้มือดีดเพื่อบังคับจังหวะ

ศิลปะการแสดง
ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้น มีศิลปะการแสดงทั้งร้อง รำ ทำเพลง หลักๆด้วยกันดังนี้
๑. ฆา-หนาง-ลอย-งึอน เป็นการฟ้อนรำ ตามจังหวะดนตรีที่บรรเลง โดยทที่ไม่มีท่าที่ตายตัว
๒. ฆา-มา-ปัวะ เป็นการฟ้อนรำโดยการประยุกต์จะท่าทางต่างของการสู้รบ โดยมีดาบ หรือกระบอง เป็นอุปกรณ์การฟ้อนรำ
๓. ฆา-มา-โต เป็นการแสดงที่ประยุกต์จากการประลองผีกับมังกร
๔. เฌิง เป็นการประยุกต์จากท่าต่างๆของกังฟู ผู้ชายส่วนใหญ่จะใช้เพื่อประลองความสามารถกัน
๕. การร้องเพลง ทำนองต่างๆ เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงเกี้ยวพาราสี เพลงเวลาไปไร่ และเพลงตามเทศกาลและโอกาสต่างๆ

ภาษา
ชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้นจะมีภาษาพูดเป็นของตนเอง นักภาษาศาสตร์ส่วนมากจัดให้อยู่ในภาษา มอญ –เขมร โดยทั่วไปชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางนั้นสามารถพูดภาษาจีน พม่า และภาษาฉานในการสื่อสารกับชนเผ่าอื่นๆที่อาศัยอยู่ในเขตการปกครองบริเวณใกล้เคียง กันเป็นอย่างดี

ผู้รู้ชนเผ่าด้านต่างๆ
๑. ดา-ซารา-ซีนัม หมอสมุนไพร และหมอจับเส้น
๒. ดา-ซารา-บูห หมอเปาคาถาหรือปัดรังควาน ฯลฯ
๓. ดา-ฌาน ผู้ประกอบพิธีทางศาสนา

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์
สถานที่ศักดิ์สิทธ์ของชนเผ่าพื้นเมืองดาราอาง ก็จะมีที่ โฌง (วัด) เฌา-เมิง (ศาล เฌา-เมิงของหมู่บ้าน) โฮ-เตอ-รอ (หัวใจหมู่บ้าน) ฯลฯ เป็นต้น