มาลิ จะทอ
ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นประชากรที่รักษาป่าและความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และ 80% ของพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองแต่ชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกา อเมริกา และเอเชีย ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง
ชนเผ่าพื้นเมืองวัมปิช (Wampís) จากประเทศเปรู เล่าว่ากำลังเจอภัยคุกคามจากเหมืองแร่ การล่าสัตว์ การตัดไม้ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เข้ามาทำลายพื้นที่ป่าและระบบนิเวศ พวกเขาพยายามปกป้องดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติของตนเองโดยการทำข้อมูลเขตแดน การรวบรวมองค์ความรู้ภูมิปัญญาและจัดกิจกรรมถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ การปฏิบัติการในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน และการดำเนินการทางกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงาน กลุ่มประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้สามารถรักษาดินแดนบรรพบุรุษและประกาศเป็นเขตปกครองตนเองชนชาติวัมปิช (Wampís Nation) เช่นเดียวกับชนเผ่าพื้นเมืองโอ๊คเกียจที่อยู่บนภูเขาแอลกอน (Elgon) ประเทศเคนยา ที่เสียดินแดนบรรพบุรุษตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม และหวังว่าหลังจากประเทศเคนย่าได้รับอำนาจคืนจากอังกฤษพวกเขาจะได้ดินแดนคืน แต่ระบบที่ตกทอดผ่านมากับรัฐธรรมนูญและระบบราชการทำให้พวกเขาทำไม่ได้ตามที่หวังไว้ได้ คนที่กลับมาอยู่ในดินแดนบรรพบุรุษถูกฟ้องร้องดำเนินจากคดีจากรัฐ พวกเขาต้องหาเจ้าหน้าที่บางคนที่เข้าใจมาเป็นพันธมิตรและให้ภาคีองค์กรด้านกฎหมายมาช่วยประกอบกับการใช้กลไกระหว่างประเทศในการกดดันรัฐบาล ในที่สุดชนเผ่าพื้นเมืองโอ๊คเกียจได้รับชัยชนะให้สามารถอยู่บนภูเขาแอลกอนบนผืนดินที่เป็นของบรรพบุรุษได้ ที่นี่ยังมีป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีถ้ำช้างป่า และมีทุ่งหญ้าสีเขียว ชาวบ้านประกอบอาชีพซึ่งมีมาแต่เดิม คือ เลี้ยงสัตว์ (วัว แพะ แกะ) และเลี้ยงผึ้งธรรมชาติเพื่อบริโภคในครอบครัวและขายเพื่อสร้างรายได้ จึงมีกฎระเบียบชุมชนที่ไม่อนุญาตให้ปลูกพืชผักเพื่อขาย เพราะเห็นว่าจะนำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ป่าได้ เพราะนอกจากนี้ชุมชนได้ปฏิบัติการกำกับติดตามความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า นำไปสู่การฟื้นฟูป่าไผ่เพื่อให้ผู้หญิงมีไม้ไผ่มาจักสานเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยและประเทศฟิลิปินส์ก็มีปฏิบัติการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ (NBSAPs)
แบ่งปันเรื่องราวความประทับใจจากการเข้าไปเรียนรู้ในเวที วางแผนและทบวนการดำเนินงานประจำปี ภายใต้โครงการวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลง: ชุมชนท้องถิ่นและชนเผ่าพื้นเมืองกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืน (Transformative Pathways) ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 6-9 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ชุมชนเชปคิตาเล (Chepkitale) ประเทศเคนยา