ชนเผ่าม้ง (Hmong)
ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง “ม้ง” ภาษาม้ง “ม้ง” ภาษาไทย “ม้ง” ภาษาอังกฤษ “Hmong”
ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน / ถิ่นที่อยู่
ชาวม้งได้เข้ามาตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในเขตภูเขาสูงในภาคเหนือของประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2480 ปัจจุบันมีชาวม้งตั้งถิ่นฐานอยู่ใน 13 จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย มีหมู่บ้านม้งทั้งสิ้นกว่า 250 หมู่บ้าน จำนวนประชากรมากกว่า 150,000 คน
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
ม้งมีสองกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ม้งเด้อ (ม้งขาว) และม้งจั้ว (ม้งดำ หรือม้งน้ำเงิน) มีการจัดระบบเครือญาติตามตระกูลแซ่ ซึ่งตระกูลแซ่ของชาวม้งในประเทศไทยมีด้วยกันมากกว่า 13 ตระกูลแซ่ เช่น แซ่ย่าง แซ่ลี แซ่สง แซ่ท่อ แซ่เฮ่อ แซ่ว่าง แซ่ฟ่า แซ่มัว แซ่หัน แซ่คัง แซ่เล่า แซ่วือ แซ่จ๊ะ ฯลฯ ในแต่ละตระกูลแซ่จะมีผู้นำตระกูลแซ่เป็นหลัก จะไม่มีการแต่งงานในตระกูลแซ่เดียวกัน เมื่อมีงานหรือกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมสมาชิกในตระกูลแซ่ทุกคนจะมาช่วยเหลือร่วมไม้ร่วมมือกัน ปัจจุบันแต่ละตระกูลแซ่มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในตระกูลแซ่ด้วยกันเกือบทุกตระกูลแซ่
โครงสร้างการปกครองและสังคม
การจัดการและแก้ไขปัญหาในชุมชนม้ง เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในชุมชน แต่ละฝ่ายจะหาตัวแทนจากตระกูลแซ่ของตนซึ่งเป็นผู้ที่สมาชิกในตระกูลแซ่เดียวกันให้ความเคารพนับถือยำเกรงเพื่อไปเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ ที่บ้านของบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ หรือที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ระบบการพิจารณาและตัดสินของม้งเป็นระบบจารีตประเพณี ไม่มีตัวอักษร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นบรรทัดฐาน และมีการใช้คนนอก (แซ่อื่น) มาช่วยตรวจสอบข้อมูลและบรรดาพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายอ้างขึ้นมา บางกรณีคนนอกเหล่านี้ก็มีบทบาทสูงในการชี้ขาดว่าใครผิดใครถูก กระบวนการพิจารณาเมื่อเริ่มขึ้นแล้วต้องดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
ม้ง มีความเชื่อ 2 ความเชื่อ ได้แก่
1) ความเชื่อในวิญญาณ หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ หรือศาสนาพุทธ
2) ความเชื่อในศาสนาคริสต์ (คริสเตียน คาทอลิก เซเว่นเดย์)
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
ฤดูกาลการเกษตรในรอบปี
มกราคม – เมษายน หาพื้นที่ทำการเกษตร และเตรียมพื้นที่ให้พร้อม
พฤษภาคม – มิถุนายน ทำการเพาะปลูก พรวนดิน
กรกฎาคม – กันยายน ดูแล รักษาพืชไร่
ตุลาคม – พฤศจิกายน เก็บเกี่ยวพืชไร่
ธันวาคม พัก และฉลองปีใหม่
มรดกทางวัฒนธรรม
1.อาหาร ข้าวสวย (ข้าวไร่) กับข้าวจำพวกผัก เนื้อ เครื่องเทศ รสชาติไม่เผ็ด
2.การแต่งกาย (ดูเอกสาร “ม้งเครื่องแต่งกาย”)
3. งานช่างฝีมือ ตีเหล็กทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ การจักสาน การก่อสร้าง การเย็บผ้าปัก การเขียนลายเทียน
4. ศิลปะการแสดง เป่าแคนรำแคน เป่าปี่ ขลุ่ย ใบไม้ จิ้งหน่อง ศิลปะการป้องกันตัว การขับร้องเพลง “ไห่ กื๋อ เซียะ”
5. การละเล่นพื้นบ้าน ลูกช่วง ลูกข่าง ลูกกี๋ต๊อ (สะบ้า)…
6. ภาษาแม่ ภาษาเขียน (ไม่มี) แต่ปัจจุบันชาวม้งนิยมเขียนภาษาม้งด้วยตัวหนังสืออังกฤษที่คิดค้นโดยมิชชั่นนารี และตัวหนังสือไทยบ้างแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก นอกจากนี้ยังมีชาวม้งบางคนพยายามคิดค้นตัวหนังสือใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ทดแทนตัวหนังสืออังกฤษและไทย
7. นิทาน ตำนาน และสุภาษิต ชาวม้งมีนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า สุภาษิต และคำสอนมากมาย นิยมถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกภายในครอบครัว และจากผู้อาวุโสสู่ผู้เยาว์ในโอกาสที่มีงานสำคัญๆ ในชุมชน เช่น งานแต่งงาน งานศพ งานกินเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น
8. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของม้ง มีอยู่ 2 ระดับ ได้แก่
8.1) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นของส่วนรวม คือ บริเวณป่าดงเซ้ง หรือสถานที่ซึ่งชุมชนได้สงวนไว้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือความเชื่อ และรวมถึงสุสานที่ใช้ร่วมกันของชุมชนหรือหมู่บ้าน
8.2) สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นส่วนตัว คือ หลุมฝังศพบรรพบุรุษ
ส่งข้อมูลที่แก้ไขมาได้ที่ nipt_secretary@gmail.com