ชนเผ่าลเวือะ (Lua)
ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง (ที่ตนเองเรียก ที่คนอื่นเรียก: ทั้งภาษาไทย และEnglish)
ชื่อที่ตนเองเรียก : ลเวือะ
ชื่อที่คนอื่นหรือคนทั่วไปเรียก : ลเวือะ ภาษาอังกฤษ : Lua
ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
ชนชาติลเวือะ อยู่ในเขต พื้นที่ ๖ ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย (บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๓๘) ในพงศาวดารเก่า ๆ เล่าว่า มีลัวะรัฐ (ลพบุรี) ก่อนขอมเข้ามามีอำนาจ สมัยพระนาง จามเทวี เคยทำสงครามกับพวกลัวะ ปฐมพงศาวดารเมืองเงิน ยางเชียงแสน กล่าวว่ามีพวกลัวะอยู่บริเวณดอยตุง และตำนานพระธาตุภาคเหนือ กล่าวถึงชนชาติลัวะก่อนชนชาติไทย และ ขอม พงศาวดารเชียงตุง เขียนว่าคนทั้งหลายออกมาจากน้ำเต้าใบเดียวกัน ลัวะ ออกมาเป็นพวกแรก กะเหรี่ยงออกมาเป็นพวกที่สอง ต่อมาเป็นคนไทย (บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๓๘-๑๓๙) อาณาจักรของลัวะ คือบริเวณแหลมสุวรรณภูมิ และเขตมณฑลยูนนานตอนใต้ เมื่อถูกขอม เขมร ไทย ลาว จาม และ เวียดนามรุกรานก็พากันแตกพ่ายไปอยู่ตามป่าเขาห่างไกล (บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๔๑) ลัวะนั้นเป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ อาณาจักรลัวะ ถึงกาลล่มสลายประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๐ ในสมัยของขุนหลวงวิลังคะ ผู้นำคนสุดท้ายของชาวลัวะ ปัจจุบันพบลัวะ ในจังหวัด คือ ลำปาง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน และแม่ฮ่องสอน หมู่บ้านลัวะที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่บ้านบ่อหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ใน ๙ ลัวะจังหวัด ๒๑ อำเภอ ๗๑ หมู่บ้าน จำนวนหลังคาเรือน ๓,๓๒๒ หลังคาเรือน ประชากรรวม ๑๗,๖๓๗ คน (ทำเนียบชุมชนฯ ๒๕๔๐, น.๕๐)
การตั้งถิ่น ฐานของลัวะ เป็นการตั้งถาวร บ้านยกพื้นสูง มุงหลังคาด้วย หญ้า มีระเบียง และห้อง ๑ ห้องใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยง สัตว์ ยุ้งข้าวแยกอยู่ต่างหาก (Lebar and others ๑๙๖๔, p.๑๒๐) ชานหน้าบ้านสำหรับใช้นั่งปั่นฝ้ายกรอด้าย ทอผ้าภายในห้องมีเตาไฟ สุมไฟไว้ตลอดเวลา ใช้เสื่อไม้ปูนอน หมอนทำด้วยท่อนไม้ ไม่นิยมนอนบนที่นอนครอบครัว
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
ชาวลัวะถือสายตระกูลทางฝ่ายชายในครอบครัวที่มีทั้งผู้หญิง และผู้ชาย ชาวลัวะจะนับทั้งหญิงและชายที่เป็นพี่น้อง ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องถือผีตามสายตระกูลของฝ่ายชายและต้องเปลี่ยนการเรียกสถานภาพ ตามอย่างสามีของตน
โครงสร้างการปกครองและสังคม
ลัวะ หลังแต่งงานผู้ชายจะนำภรรยามาอยู่บ้านของตน จนกระทั่งลูกชายคนต่อไปแต่งงานก็แยกไป ปลูกเรือน เป็นของตัวเองต่างหาก (Lebar and others ๑๙๖๔, p.๑๒๐) บางแห่งเช่นที่บ้านช่างหม้อ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังแต่งงานผู้ชายต้องมาอยู่บ้านผู้หญิง ผู้ชายมีโอกาสนำภรรยากลับไปบ้านบิดามารดาของตน ได้ ก็ต่อเมื่อมีบุตรด้วยกัน (บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๘๖) ถ้าผู้หญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชายต้องไปนับถือผีทางฝ่ายชาย
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
ในตำนานเสาหลักเมืองเชียงใหม่ เล่าว่า เดิมบริเวณเมืองเชียงใหม่ เป็นที่อยู่ของลัวะหรือลัวะ นับถือ ปีศาจ เมื่อเจ็บป่วยหรือมีเหตุการณ์อย่างไร ก็เซ่นบูชาผีต่าง ๆ ด้วยไก่ สุกร โค กระบือเสมอ ลัวะนับถือผีกันมาก คือผีละมาง แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ ผีละมางอยู่กับบ้านเรือน และผีละมางบิดามารดา ซึ่งถึงแก่กรรม ไปแล้ว ผีละมางอยู่กับบ้าน ถือเป็นผีเรือน คอยคุ้มครองรักษาป้องกันภัยให้แก่สมาชิกในครอบครัว ส่วนผีละมาง ดวงวิญญาณบิดามารดา เรียกว่า ผีละมางพ่อแม่ การเซ่นผีนี้ เมื่อมีคนภายในบ้านไม่สบาย ผีอื่น ๆ ได้แก่ ผีหลวง ลัวะจะสร้างเรือนประทับผีหลวงไว้ต่างหาก มีไม้แกะสลักสูงราว ๑๒ ฟุต ขนาบด้วยเสาไม้สูง ๒ เมตร ในเรือนมีกลองหนึ่งใบ สำหรับตีเพื่อเรียกผีหลวงมารับเครื่องเซ่นและตีเวลาเกิดโรคภัยร้ายแรง(บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๗๗-๑๗๘) แต่อย่างไรก็ตามพวกลัวะยังมีการนับถือศาสนาพุทธด้วย
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
ระบบเศรษฐกิจของพวกลัวะ คือการทำนา ปลูกข้าว ยาสูบ พริก ฝ้าย เลี้ยงโค กระบือ หมู ไก่ สานเสื่อ กระบุง ย่าม ทอผ้า ทำเครื่องเงิน กำไลแขน กล้องยาสูบ ตีเหล็ก เป็นต้น ก่อนเผาต้นไม้ทำไร่ พวกลัวะต้องเซ่นผีป่า ผีไร่ เครื่องเซ่น ได้แก่ หมู ไก่ สุนัข สุรา และเบี้ย เมื่อเซ่นผีแล้วจะนำอาหารมารับประทานจดหมด (บุญช่วย ๒๕๐๖, น.๑๘๑)
มรดกทางวัฒนธรรม
มรดกทางวัฒนธรรมของชนเผ่าลัวะ ซึ่งประกอบด้วยอาหาร โดยพื้นฐานนของชนเผ่าลัวะจะอาศัยทรัพยากรในชุมชน มาประกอบเป็นอาหารหลัก ตามฤดูกาลของพืชผักต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน และอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าลัวะ คือ สะเบื๊อก ส่วนด้านการแต่งกายของลัวะ ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำมีขลิบผ้าสีแดงที่ปลายแขน นุ่งผ้าสั้นทรงกระบอกสีดำลายแดง สวมเสื้อสีขาวทั้งชายและหญิงนิยมเจาะหู ให้เป็นรูโตเอาใบลาน หรือแผ่นทองเหลืองม้วนกลมยัดใส่ไว้ เอาด้ายทำเป็นพู่ห้อยลงมาผู้หญิงประดับคอด้วยสร้อยลูกปัดลูกเดือยหิน สวมกำไลข้อมือเงินขดเป็นเกลียวหญิง ชาวลัวะนิยมใช้กล้องยาสูบ เป็นเครื่องประดับและมวยผมประดับปิ่นและขนเม่นที่ศรีษะ ผู้ชายมีมีดเหน็บเอว(บุญช่วย ๒๕๐๖,) งานช่างฝีมือ ที่เห็นโด่ดเด่น ได้แก่ การสานสื่อ กระบุง ย่าม ทอผ้า ทำเครื่องเงิน กำไลแขน กล้องยาสูบ ตีเหล็ก เป็นต้น ด้านการแสดงศิลปะและการละเล่นของชนเผ่าลัวะ ประกอบด้วยการรำดาบในช่วงเทศกาลของต่างๆ ของชุมชน ส่วนการละเล่น เช่น การยิงหนังสติกลัวะ การเล่นไม่ต่อขา และการเล่นสะบ้า(เรอเกฮะ) ภาษา เป็นเป็นภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก กลุ่มมอญ-เขมร โดยอยู่ในสาขาย่อยของปะหล่อง-ล้าอีกทีหนึ่ง ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาษาเป็นภาษาที่อยู่ร่วมกันในตระกูลกับภาษามอญ-เขมร คือ การที่ภาษาลัวะไม่มีระบบเสียง นอกจากนี้ชนเผ่าลัวะยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ชนเผ่าลัวะให้ความเคารพยำเกรง ซึ่งได้แก่ ญู่ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้านซึ่งจะทำขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีเสาอินทขิลเป็นสัญลักษณ์ ญู่ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามฤดูกาล เช่น ก่อนเริ่มปลูกการเกษตร และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งในหมู่บ้านจะมี ๓ จุด และโม เป็นป่าอนุรักษ์ ที่ใช้ไม้สำหรับทำโลงศพ ห้ามนำไปใช้อย่างอื่น
บทสรุปส่งท้าย
ชนเผ่าลัวะเป็นชนกลุ่มดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาจักรล้านนามาก่อนการตั้งเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นได้มีการล่มสลายด้วยเหตุการณ์สงคราม ทำให้ชนเผ่าลัวะต้องกระจายตัวอยู่หลายจังหวัดในภาคเหนือ ปัจจุบันชนเผ่าลัวะได้ประสบปัญหาเหมือกันชนเผ่าทั่วไป คือ มีการสูญเสียงทาวัฒนธรรมและภาษา เศรษฐกิจ เนื่องด้วยปัจจัยหลายสาเหตุ เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ต่างๆ ศาสนา การศึกษา และเทคโนลียี ที่เข้าในมาในชุมชน ทำให้การอพยพเข้าเมืองมากขึ้น และเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย จากปัญหาเหล่านี้ทางรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร เพื่อให้ชนเผ่าลัวะมีวิถีชีวิตที่เป็นปกติสุข และยั่งยืนต่อไป
ส่งข้อมูลที่แก้ไขมาได้ที่ nipt_secretary@gmail.com