ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง
ลีซู (Lisu) หมายถึง ชนผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีความหมายมาจากรากศัพท์ 2 คำ คือคำว่า“ลี”มาจากคำว่าอิ๊หลี่ ซึ่งหมายถึง จารีตประเพณี วัฒนธรรม และวิถีปฏิบัติแห่งชีวิต ส่วนคำที่สอง คือคำว่า “ซู” มีความหมายว่า ศึกษา การเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ในเชิงทฤษฏีและเชิงปฏิบัติ
ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
เป็นชนกลุ่มเชื้อสายโล – โล มีต้นกำเนิดมาจากชนผิวเหลืองหรือมองโกลอยด์ จากหลักฐานและคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าชาวลีซู ชาวลีซูมีการมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เมื่อปี พ.ศ 2451 ในปัจจุบันชาวลีซูกระจายกันตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก พะเยาลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์และกำแพงเพชร ปัจจุบันมีชาวลีซูที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวนประมาณ 50,000 คน
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
ครอบครัวของชาวลีซูเป็นลักษณะครอบครัวขยาย การสืบสายตระกูล จะถือการสืบสายโลหิต ทางฝ่ายบิดาเป็นสำคัญ เมื่อบุตรชายคนโตแต่งงานต้องนำภรรยาเข้ามาอยู่บ้านบิดามารดาของตน เพราะถือว่าบุตรชายเป็นผู้ได้รับมรดกสืบแซ่สกุลและบุตรชายคนโตเป็นใหญ่ในบรรดาพี่น้อง ถ้าน้องชายแต่งงาน บุตรชายคนโตที่มีครอบครัวแล้ว จะแยกเรือนออกไปอยู่ต่างหาก การนับญาติก็จะนับถือกันไปตามศักดิ์และอายุเป็นสำคัญ ชาวลีซูใช้ระบบสายสกุลหรือตระกูล ตระกูลที่มีอยู่ในไทย ได้แก่ ต๊ะหมิ (ตามี่หรือแสนมี่) หย่าจา (แซ่ย่าง) หลี่จา (แซ่ลี้) นุหลี่ (แซ่ลี้) ซญ่อหมิ (แซ่มี่) โอชือ (แมวป่า) จูจา (แซ่จู) จญาจา (สินจ้าง) งั่วผ่า (เลายี่ปา) หว่าจา (แสนว่าง) ซือผ่า และตอจา (สีตอน)
โครงสร้างการปกครองและสังคม
ในอดีตโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นทางการมีบทบาทสำคัญมากในชุมชน เช่น (1) มือหมือผะ (ผู้นำด้านพิธีกรรม) ทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม (2) หนี่ผะ (หมอผี) ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกของวิญญาณ (3) โชโหม่วโชตี (ผู้อาวุโส) บุคคลที่มีอายุ และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในกิจกรรมหรือข้อพิพาษต่าง ๆ ของชุมชน ในปัจจุบัน มีโครงสร้างการปกครองทางการเหมือนนเช่นชุมชนทั้ว สำหรับโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นทางการนั้น ในปัจจุบันได้ลดบทบาทน้อยลง
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่าง ๆ
ประชากรส่วนใหญ่ของลีซูนับถือศาสนาดั้งเดิม (Animism) มีส่วนน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์ ปัจจุบันชุมชนลีซูยังมีกิจกรรมวัฒนธรรม และพิธีกรรมตามความเชื่อแบบดั้งเดิมปฏิบัติกันอยู่ เช่นเทศกาลปีใหม่ งานบูรณะอาปาโหม่ฮี หลี่ฮีฉัว (บูรณะหลุ่มฝังศพ) และพิธีทำบุญเรียกขวัญ เป็นต้น นอกจากตัวอย่างพิธีกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับพืช ผักต่างๆ เช่นกัน
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
อาชีพที่สำคัญของชาวลีซูคือ การทำไร่ข้าว ซึ่งในไร่ข้าวจะมี พริก ทานตะวัน ถั่ว แตง บวก และผักต่าง ๆ การทำไร่ข้าวเพียงเพื่อบริโภคภายในครอบครัวตลอดปีมากกว่าขายเป็นสินค้า การทำไร่ข้าวโพดมีความสำคัญรองจากการทำไร่ข้าว ข้าวโพดที่ผลิตได้นำไปเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ บริโภคเองบ้างและบางส่วนนำมาหมักต้มกลั่นเป็นสุราข้าวโพด เพื่อดื่มในระหว่างงานพิธีฉลองปีใหม่ หรืองานพิธีอื่นภายในครัวเรือนและหมู่บ้าน ส่วนพืชผักอื่น ๆ ก็ปลูกแต่เพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้แล้วชาวลีซูยังเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เช่น ไก่ หมู แพะ แกะ ม้าอีกด้วย โดยเฉพาะหมูและไก่นั้นเป็นสัตว์เลี้ยงที่จะขาดเสียมิได้ ทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ตามประเพณีของเผ่า นอกจากการทำไร่และเลี้ยงสัตว์แล้ว
มรดกทางวัฒนธรรม
1. อาหาร ลีซูมีอาหารที่จะประกอบในเทศกาล หรือเวลามีพิธีกรรมอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ มาหวู่จ๊าจ๊า (ต้มหน่อไม้กับกระดูกหมู่) ขว๋ากีกือ (ลาบหมู) และ ขว่าลู ๆ (ทอดหมู) นอกจากนั้นลีซูยังมีการถนอมอาหารเพื่อที่จะสามารถเก็บไว้กินในยามแล้ง ได้แก่ ผักกาดดอง ผักกาดตากแห้ง ไส้กรอก หมูลนควัน ลากหอมชูดอง เป็นต้น และอาหารที่ขึ้นชื่อของลีซูอีกอย่างคือ จ้า สู่ แปะ แปะ หรือ ยำมะขือเทศ เป็นอาหารที่จะต้องมีเพื่อไปทำไร่ทำสวน
2. การแต่งกาย เครื่องแต่งกายชายลีซูสวมกางเกงขากว้างยาวเลยเข่าเล็กน้อยลักษณะ สีที่นิยมคือ สีฟ้า เขียวอ่อน หรือสีอื่น ๆ (ที่เป็นสีโทนเย็น) ส่วนคนสูงอายุนิยมใช้สีดำหรือสีม่วงเข้ม เสื้อคล้ายเสื้อแจ็คเก็ต สีดำทำด้วยผ้าใยกัญชา (ในอดีต) หรือผ้ากำมะหยี่ (ในปัจจุบัน) ประดับด้วยแผ่นโลหะเงินรูปครึ่งวงกลมเย็บติดกับเสื้อเรียงเป็นแถวทั้งข้างหน้าและข้างหลัง (เสื้อกำมะหยี่นี้จะสวมเฉพาะวันปีใหม่ และวันแต่งงานของตนเองเท่านั้น) อีกทั้งนิยมสวมถุงน่องเป็นผ้าดำ และติดด้วยแถบสีสดใส
เครื่องแต่งกายหญิงลีซูไม่ว่าจะเป็นเด็ก หญิงสาว หญิงแต่งงานแล้ว หรือคนชรา จะแต่งกายเหมือนกันหมด กางเกงจะเป็นสีดำยาวเลยเข่าเล็กน้อย มีเสื้อคลุมยาว นิยมสีฟ้า หรือสีโทนเย็นที่มีสีสดใส ตัวเสื้อตั้งแต่เอวลงมาจะผ่าทั้งสองข้าง แขนยาว ที่ปกคอติดแถบผ้าสีดำ ยาวประมาณ 1 คืบ ช่วงต้นแขนและหน้าอกตกแต่งด้วยผ้าหลากสีเย็บติดกันเป็นแผ่น คาดเข็มขัดซึ่งเป็นผ้าดำผืนใหญ่ กว้างขนาดฝ่ามือ หญิงนิยมโพกศีรษะ (จะใช้ผ้าโพกศีรษะเฉพาะในงานสำคัญ เช่น งานแต่งงาน ปีใหม่ ) ใช้ผ้าพันแข้งด้วยผ้าพื้นสีโทนร้อน (แดง ชมพู ม่วง) ปลายขอบล่างติดแถบผ้าหลากสีและมีลายปักที่สวยงาม เมื่อมีพิธีกรรมหรืองานฉลองก็จะสวมเสื้อกั๊กผ้ากำมะหยี่ ซึ่งประดับด้วยแผ่นโลหะเงินรูปครึ่งวงกลม และเหรียญรูปี
3. งานช่างฝีมือ ลีซูถือว่าเป็นชนที่มีความเชี่ยวชาญในงานฝีมือมากชนหนึ่ง งานฝีมือที่สามารถพบเห็นได้ในชุมชน ได้แก่ ช่างจักรสาน (ตระกร้า, ไม้กวาด, เก้าอี้หวาย, กระบุง,อุปกรณ์ดักสัตว์)ช่างตีเหล็ก (จอบ มีด เสียม) ช่างตีเงิน (แผ่นโลหะเงินรูปครึ่ง, เครื่องประดับ) ช่างเย็บผ้า เป็นต้น
4. ศิลปะการแสดง ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของชาวลีซูคือ “กวาเซยี่ย” หรือเต้นรำ ลีซูจะมีการเต้นรำการเฉลิมฉลองด้วยการทำพิธีกรรม และจัดงานรื่นเริง เช่น งานปีใหม่ งานแต่งงาน และงานทำความสะอาดศาลเจ้าหมู่บ้าน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีศิลปะการแสดง เช่น การร้องเพลง มีทั้งเพลงเกี่ยวพาราสี เพลงแต่งงาน เพลงสำหรับคนตาย เพลงสำหรับลูกกำพร้า และ เพลงกล่อมเด็ก
5. การละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นของชาวลีซูที่ยังคงสืบทอดกันคือ การเล่นลูกสะบ้า ลูกข่าง ไม้คะเย่ง และการใช้หน้าไม้ เป็นต้น
6. ภาษาแม่ ลีซูพูดภาษาในกลุ่มหยี (โลโล) ธิเบต – พม่า ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง ต่อมากลุ่มมิชชั่นนารีที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ได้นำเอาอักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของลีซู
7. นิทาน ตำนาน และสุภาษิต ลีซูมีนิทาน เยอะมาก มีทั้งนิทานตลกขบขัน นิทานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การวางตัว มากว่า 100 เรื่อง ตำนานหรือสุภาษิตก็มีเยอะมาก ส่วนใหญ่ก่อนนอน คุณพ่อ แม่ หรือว่ายา ยายจะมีการเล่านิทาน ตำนาน หรือสุภาษิตให้กับลูกหลานได้ฟังก่อนนอน
8. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมชุมชนลีซูมีสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ (1) อี๊ด่ามอ ซึ่งเป็นที่ที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองทรัยพยากรธรรมชาติในอาณาเขตของชุมชน ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ในการทำมาหากินด้วย และ อาปาโหม่ฮี ต้องเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่เหนือชุมชน หรือสูงกว่าที่พักอาศัยของคนในชุมชน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมระดับครอบครัว โดยมีผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัวเป็นผู้ประกอบพิธี และระดับชุมชนที่มีหมือ หมือผะหรือโชโหม่วโชตี เช่นบางคนผูกขวัญไว้ที่อาปาโหม่ฮี ก็ต้องประกอบพิธีกรรมเรียกขวัญที่อาปาโหม่ฮี เป็นต้น
บทสรุปส่งท้าย
ปัจจุบันสังคมลีซูประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ วิถีชีวิตที่เป็นแปลงไป การสูญหายของวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งเหล่านี้คนลีซูจะต้องรวมพลังในการคิดและวางแผนที่จะสู้กับปัญหาเหล่านี้อย่างไร เรื่องที่ดินทำกินและว่าเราครอบครอบที่ดินมายังหลายทั่วอายุคน แต่เราก็ยังอยู่ยังผิดกฎหมาย หรือยังไม่ได้รับการยอมรับในการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการทำให้ชนเผ่าลีซูต้องอพยพแรงงานสู่ภาคเมือง ปัญหาต่าง ๆ รัฐจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขหรือผลักดันอย่างเพื่อที่จะรักษาอัตรลักษณ์ของความเป็นลีซูไว้