ชนเผ่าอ่าข่า (Akha)

ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง (ที่ตนเองเรียก ที่คนอื่นเรียก: ทั้งภาษาไทย และEnglish)
ชื่อที่ตนเองเรียก อ่าข่า (Aqkaq)
ชื่อที่คนอื่นเรียก ภาษาไทย อาข่า ภาษาอังกฤษ Akha

ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
ชนเผ่าอ่าข่า มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน ปัจจุบันชาวอ่าข่ามีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่บริเวณมณฑณยูนนานของประเทศจีน โดยเฉพาะแคว้นสิบสองปันนา นอกจากนี้ยังมีประชากรชาวอ่าข่ากระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศลาว พม่า เวียดนามและไทย ซึ่งมีประชากรโดยรวมทั่วโลกประมาณ 8 แสนคน ชนเผ่าอ่าข่าได้เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว กระจายอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ ตากและเพชรบูรณ์ อ่าข่าในประเทศไทยมีอยู่ 8 กลุ่ม คือ อู่โล้ Uq Lor, ลอมี้ Law mir, อู่ บยา Uq byaq , หน่าคะ Naq Kar อาเคอะ Ar Ker, อาจ้อ Ar Jawr , อู่พี Uq Pi และ เปียะ Pyavq มีจำนวนประชากรในประเทศไทยประมาณ 70,000 คน อาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
โครงสร้างครอบครัวของชนเผ่าอ่าข่า ผู้ชายถือเป็นหัวหน้าครอบครัว และมีการขยายครอบครัวออกทางผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายจะเป็นผู้สืบสายวงศ์ตระกูลของครอบครัว ดังนั้นชนเผ่าอ่าข่าจึงมีการสืบสายโลหิต โดยมีการนับ ลำดับชื่อบรรพบุรุษ อ่าข่าเรียกว่า จึ (Tseevq) โดยมีชื่อผู้ชายเป็นหลัก ฉะนั้นผู้ชายชนเผ่าอ่าข่า จึงมีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ลำดับชื่อของบรรพบุรุษ ตลอดจนพิธีกรรมประเพณีของครอบครัว เพื่อจะได้นำไปใช้และถ่ายทอดสืบทอดให้กับน้องหรือลูกหลานต่อไป
โครงสร้างการปกครองและสังคม
ชนเผ่าอ่าข่า มีรูปแบบการปกครองเป็นของตนเอง ผู้นำก็คือหัวหน้าหมู่บ้าน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลชุมชนให้อยู่ในกฎระเบียบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคม ร่วมกับคณะผู้อาวุโสตัดสินคดีข้อพิพาทและร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆ การสืบทอดตำแหน่งเป็นการสืบต่อตามสายพรรพบุรุษ นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าหมู่บ้าน ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าพิธีกรรม ช่างตีเหล็ก หมอผี ผู้รู้ และผู้อาวุโส คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่พิจารณาตัดสินใจในกิจกรรมต่าง ๆของชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมประจำปี การย้ายหมู่บ้าน การพิจารณาความผิดของชาวบ้าน อำนาจเด็ดขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการหมู่บ้านเพียงฝ่ายเดียว บางครั้ง สมาชิกหมู่บ้านมีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน ปัจจุบันระบบการปกครองของชุมชนอ่าข่าเป็นการปกครองแบบผสมผสานระหว่างการปกครองแบบจารีตประเพณีและแบบทางการ

ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
วิถีชีวิตที่ดำเนินมานานกว่า 2,700 กว่าปี แม้อ่าข่าไม่มีภาษาเขียน แต่มีพิธีกรรมและประเพณี ที่อ่าข่าเรียกว่า “แดะย้อง ซี้ย้อง” Daevq Zanr Xir Zanr ไม่น้อยกว่า 21 พิธีกรรม เป็นเครื่องมือดำรงชีพ มีสุภาษิต คำสอน เรียกว่า “อ่าข่า ด่อด่า” Aqkaq Dawq daq มี กฎระเบียบข้อบัญญัติ (กฎหมาย) เรียกว่า “ย๊อง” Zanr ซึ่งทั้งหมดเป็นที่มาของการมี ศาสนา ที่เรียกว่า “อ่าข่าย๊อง”Aqkaq Zanr ถือเป็น คัมภีร์ ของชนเผ่าอ่าข่า โดยมี ความเชื่อ ที่เรียกว่า “นือ จอง” Nee Jan และนับถือองค์เทพต่างๆ หลายองค์ อาทิเช่น เทพแห่งดิน เทพแห่งน้ำ เทพแห่งภูเขา ฯลฯ โดยมีองค์เทพสูงสุดเรียกว่า “อ่าเผ่ว หมี่แย้” Aq Poeq Miq Yaer เป็นที่เคารพกราบไหว้บูชามาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีของชนเผ่าอ่าข่ามีความผูกพันเกี่ยวโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแทบทั้งสิ้น ประเพณีที่เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ได้แก่ ประเพณี “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อ่า เผ่ว” (Khmq seevq khmq mir aq poeq) หรือประเพณีชนไข่แดงเป็นส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และยังเป็นวันคล้ายวันเด็กของอ่าข่าอีกด้วย มีขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายน ประเพณี “แย้ ขู่ อ่าเผ่ว” (Year kuq aq poeq) หรือประเพณีโล้ชิงช้าเป็นการเฉลิมฉลองและขอพรจากเทพเจ้าให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ประเพณี“คะ ท๊อง อ่าเผ่ว”( Kar tanr aq poeq) หรือ “ปีใหม่ลูกข่าง”คือพิธีเฉลิมฉลอง การเปลี่ยนฤดูกาลทำมาเลี้ยงชีพ มีขึ้นเป็นประจำทุกเดือนธันวาคมของทุกปี
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
อาชีพหลักของอ่าข่าคือการทำการเกษตร พืชส่วนใหญ่ที่เพาะปลูกเป็นพืชไร่เช่น ข้าว ข้าวโพด และพืชผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อบริโภคและประกอบพิธีกรรม ส่วนที่เหลือจะแบ่งไว้สำหรับขายหรือแลกเปลี่ยน การเลือกทำเลและพื้นที่ทำการเกษตรนั้นจะใช้ความเชื่อและพิธีกรรมเป็นหลักในการตัดสินใจ โดยปกติจะอยู่ไกลจากชุมชนไม่น้อยกว่า 3-5 กิโลเมตร
วิธีการปลูกพืชนั้นจะมีการผสมเมล็ดพันธุ์ต่างๆผสมคลุกเคล้ากับเมล็ดพันธุ์ข้าวและปลูกพร้อมกัน ฉะนั้นไร่ข้าวของอ่าข่าจะมีพืชพันธุ์นานาชนิดผสมอยู่ด้วย นอกจากนี้อ่าข่ายังนิยมปลูก พืชผักสวนครัวไว้บริเวณรั้วหลังบ้านของตน ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการบริโภค และอ่าข่ายังมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เช่น สมุนไพร ผักป่าตามฤดูกาล และการล่าสัตว์เพื่อยังชีพอีกด้วย
มรดกทางวัฒนธรรม
ชนเผ่าอ่าข่าเป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงามและมีคุณค่า ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ในรูปแบบของแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ มากมาย เช่น ศาสนสถาน โครงสร้างการปกครอง ความเชื่อในการจัดตั้งชุมชน การสร้างบ้านเรือน การเลือกพื้นที่เพาะปลูก การเลือกคู่ครอง กระบวนการผลิตเครื่องนุ่งห่ม ศิลปะการแสดง ศิลปะในการปรุงอาหาร การรักษาและบำบัดโรคด้วยสมุนไพรและพิธีกรรม ภาษา และการแต่งกาย ฯลฯ โดยมีการสืบทอดถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามวิถีชีวิต

บทสรุปส่งท้าย
การดำรงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมของอ่าข่าที่ดีงามนั้น นับวันยิ่งยากมากขึ้น ด้วยปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การศึกษา กฎหมาย ค่านิยม ศาสนา และความเชื่อ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงและการสูญสลายของวิถีชีวิต องค์ความรู้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เช่น คนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ได้เข้าถึงความเจริญมากขึ้น แต่ในทางกลับกันองค์ความรู้ภูมิปัญญา ความเป็นตัวตนกลับลดลง ทำให้วัฒนธรรมชนเผ่าเดิมที่เคยมีมาได้ค่อยเลือนหายไปพร้อมกับชนรุ่นหลังที่พัฒนาตนเองกลายเป็นคนเมือง อย่างไรก็ตามหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกให้ความสนใจ และถูกแก้ไข จากทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นพหุวัฒนธรรมของประเทศไทยสืบไป

แหล่งที่มา :
สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมอ่าข่าเชียงราย, ศูนย์พิพิธภัณฑ์ชาวเขา, สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT)

ส่งข้อมูลที่แก้ไขมาได้ที่ nipt_secretary@gmail.com