เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้มีปัญหาสถานะบุคคล และภาคีองค์กรและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในระบบหลักประกันสุขภาพ และทางออกที่ควรจะเป็น” ในวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอความจำเป็นและเหตุผลสำคัญที่ต้องจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายของชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เรื่อง การทบทวนนิยามผู้ทรงสิทธิในการรับบริการสุขภาพ ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และในเวทีได้มีการแลกเปลี่ยนถึงประโยชน์ที่จะได้รับอย่างกว้างขวาง โดยมีข้อสรุปที่เป็นข้อเสนอหลัก ดังนี้
“ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทบทวนนิยามผู้ทรงสิทธิรับบริการสุขภาพในมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ด้วยการให้บุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิที่กำลังรอการพิสูจน์หรือพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลหรือสัญชาติ หรือคนที่เคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก่อน ได้แก่ บุคคลที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545”
โดย คชท. พชช. และภาคีที่ร่วมจัดประชุม ในนามเครือข่ายองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านชนกลุ่มน้อยตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พิจารณาเพื่อทบทวนนิยามผู้ทรงสิทธิรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
โดยมีองค์กรร่วมจัด ดังนี้
- สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT)
- สมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ (สสช.) ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
- บางกอกคลินิกนิติธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)
- เครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา มูลนิธิพัฒนานานาเผ่าไร้พรมแดน
- มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
สนับสนุนโดย
- มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
- องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย