ขันแก้ว รัตนวิไลลักษณ์
ความผูกพันระหว่างแม่ลูกและการสื่อสารด้วยภาษาแม่ ในทุกความสัมพันธ์ที่มีความหมาย การสื่อสารคือกุญแจสำคัญในการสร้างความเข้าใจและความผูกพัน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก การใช้เวลาอยู่ด้วยกันและสื่อสารด้วยภาษาแม่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น แต่ยังเป็นการส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมและความรู้สึกที่ลึกซึ้งอีกด้วย
ความผูกพันระหว่างแม่ลูกเริ่มต้นตั้งแต่วันแรกที่แม่เห็นหน้าลูก ความรักที่ไม่มีเงื่อนไขนี้เป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ การมีเวลาให้กันและกันในแต่ละวัน การพูดคุยด้วยภาษาแม่ เป็นสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างรุ่นต่อรุ่น การพูดคุยด้วยภาษาแม่ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวและความรู้สึกของกันและกัน แต่ยังช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง รวมทั้งความเข้าใจและการเอื้ออาทรในครอบครัว การมีความเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งที่สำคัญ การฟังและรับรู้ความรู้สึกของกันและกันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งการให้ความเอื้ออาทรต่อกันในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันในเรื่องเล็กน้อย หรือการให้กำลังใจเมื่อพบกับปัญหา เป็นการแสดงออกถึงความรักและความผูกพันที่ลึกซึ้ง
ความรัก ความสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างคนสองวัย แม่และลูกนี้ชาวปกาเกอะญอได้ให้ความสำคัญและได้บันทึกไว้เป็นในบทลำนำธา ซึ่งมีการสืบทอดต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว ลำนำธาถูกบันทึกไว้ว่า “Of hplaif lauz le p’nauj hsiv, auf moj meiz mauz moj noo hti.” แปลว่า “เมื่อเกิดมาเป็นเด็กก็ได้กินคำข้าวจากปากแม่และน้ำเลือดน้ำนมของแม่” คนเราตอนเป็นเด็กทารกยังไม่สามารถเคี้ยวข้าวกลืนเองได้ แม่จะเคี้ยวข้าวจากปากให้ละเอียดแล้วคายออกมาป้อนให้ลูกกิน ขณะเดียวกันลูกก็ดื่มน้ำนมจากอกแม่ ชาวปกาเกอะญอถือว่าน้ำนมแม่ก็คือเลือดของแม่นั่นเอง
ความผูกพันและมิตรภาพในครอบครัวของคนทำงานร่วมกัน ในชีวิตการทำงาน เรามักพบเจอกับผู้คนมากมายที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ความผูกพันและมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างคนทำงานร่วมกันนั้นไม่เพียงแต่ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานดีขึ้น แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าคำว่า “เพื่อนร่วมงาน” มิตรภาพที่เกิดขึ้นในที่ทำงานมักจะเริ่มต้นจากการทำงานร่วมกัน การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และการแบ่งปันความสำเร็จ รวมทั้งความร่วมมือและการสนับสนุนกันในทุก ๆ สถานการณ์ ทำให้เกิดความผูกพันเมื่อเวลาผ่านไป มิตรภาพนี้ยิ่งเติบโตและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มีความหมายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งความจริงใจและความเข้าใจในที่ทำงาน ความจริงใจเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของกันและกันทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่อบอุ่นและเป็นมิตร ความเข้าใจซึ่งกันและกันนี้ยังช่วยลดความขัดแย้งและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน
การดูแลกันและกันในครอบครัวของคนทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างความผูกพันในครอบครัวของคนทำงานร่วมกัน การแสดงออกถึงความห่วงใย ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันนอกเวลางาน การให้กำลังใจในวันที่เหนื่อยล้า หรือการยอมรับและเข้าใจในวันที่เพื่อนร่วมงานต้องการพื้นที่ส่วนตัว ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงออกถึงความรักและความผูกพันที่ลึกซึ้ง
บรรพชนปกาเกอะญอพูดถึงความสัมพันธ์ในครอบคัว พ่อแม่และลูก ผ่านทางภาษิต บทสอนบทหนึ่งว่า “Sof hpo sof liz sof le meiz laf hkof.” แปลว่า “สอนลูกให้สอนบนขันโตกกินข้าว” สมัยก่อนครอบครัวปกาเกอะญอจะกินข้าวในขันโตกใบเดียวกัน ตกข้าวใส่ขันโตก และเว้นที่ไว้ตรงกลางสำหรับวางกับข้าว สมาชิกในครอบครัวทุกคน ทั้งพ่อแม่และลูกจะนั่งรอบขันโตกกินข้าวด้วยกัน ขณะกินข้าวพ่อแม่พูดคุยกับลูกฟังในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งที่เป็นบทสอนและการจัดวางบทบาทหน้าที่ความรับผิดตามความเหมาะสมแก่วัย เป็นอย่างนี้ทุกมื้อทุกวัน ทำให้ครอบครัวมีความรัก ความผูกพัน ความเข้าใจ และความสัมพันธ์แนบชิดสนิทกัน รวมทั้งลูก ๆ ได้รับและซึมซับบทสอนจากพ่อแม่ได้อย่างฝังใจ การกินข้าวด้วยกันในขันโตกใบเดียวกัน กับข้าวในถ้วยเดียวกันเป็นภาพสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัวอย่างแท้จริง
Maz p’wai t’doof moj hpo, maz div k’nai pgauj av hpo. แปลว่า “ขอให้เราร่วมกันเป็นหนึ่งในครอบครัวเล็ก ๆ นี้ ทำให้เหมือนแม่ผึ้งดูแลลูกผึ้งนั่นแล” เป็นลำนำธาอีกบทหนึ่งที่สะท้อนถึงความเป็นพ่อแม่ที่มีความรัก ความห่วงใย ดูแล เอาใจใส่ลูก ๆ ที่ยังอ่อนวัย เปรียบดั่งแม่ผึ้งทั้งหลายที่ช่วยกันเลี้ยงดูลูกอ่อนอย่างทะนุถนอม เพราะลูกอ่อนอยู่ในสภาพที่เบาะบาง มีสิ่งที่เป็นอันตรายหรือศัตรูรอบทิศ พร้อมที่จะเข้ามาจู่โจมได้ทุกเมื่อ เช่น นก หมี อีเห็น เป็นต้น
Puj maz mei sei waij sav hku, waij maz mei sei puj sav hku. แปลว่า “หากน้องได้ดีพี่ก็ยินดีด้วย หากพี่ได้ดีน้องก็ดีใจด้วย” พ่อแม่ปกาเกอะญอจะสอนลูก ๆ ให้รักและช่วยเหลือกัน ในทางตรงข้ามอย่าอิจฉาตาร้อน อย่างข่มเหง รังแก กลั่นแกล้งกัน ถ้าน้องได้ดีให้พี่ยินดีด้วย ถ้าพี่ได้ดีให้น้องยินดีด้วย ถ้าได้ดีทั้งสองคนก็ช่วยเหลือค้ำจุนกัน และตกระกำลำบากให้ช่วยเหลือกัน
Dau puj waij htau sav mei qoo, bauv htauf s’kauv seif hplef htoo. แปลว่า “ผองพี่น้องเอ๋ย จงรวมหัวใจเป็นดวงเดียวกันเถิด แล้วเราจะช่วยกันยกเสาหลักทองได้” บรรพชนปกาเกอะญอจะสอนลูก ๆ ให้มีความรักความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีความสมานสามัคคีกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความสำเร็จในกิจการงาน “เสาหลักทอง” เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จสูงสุด แม้จะเป็นสิ่งที่ได้มายาก แต่ถ้าพี่น้องร่วมใจกันก็จะประสบความสำเร็จที่จะได้สิ่งนั้นมา
Dau puj waij sif qux cunez, moohkof lauz pgauj hsauf htauf cez. แปลว่า “ผองพี่น้องเอ๋ย จงสานนิ้วมือเข้าด้วยกันไว้ แม้ฟ้าถล่มเราก็จะช่วยกันยันไว้ได้” เป็นอีกบทลำนำธาหนึ่งที่ให้ภาพของความสมานสามัคคีของลูก ๆ ที่พ่อแม่ต้องการ และพวกท่านคอยอบรมสั่งสอนหล่อหลอมลูกกับบทสอนนี้ ฟ้าถล่มเป็นภาพสะท้อนของปัญหาอันใหญ่หลวง ดูแล้วเกินกว่าจะแก้ไข แต่ถ้าลูก ๆ มีความสมานสามัคคีกันแล้วก็จะแก้หรือฟันฝ่าอุปสรรคนั้นไปได้
ดังนั้นกิจกรรมสายใยรักคนสองวัยที่เน้นความผูกพันระหว่างแม่ลูก การสื่อสารด้วยภาษาแม่ การให้เวลาและความเข้าใจซึ่งกันและกัน และการเอื้ออาทรต่อกันเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีความแข็งแกร่ง ความรักและความผูกพันนี้จะเป็นมรดกที่ส่งต่อไปยังรุ่นต่อไป อีกทั้งความผูกพันและมิตรภาพในครอบครัวของคนทำงานร่วมกันไม่เพียงแต่ทำให้การทำงานเป็นสิ่งที่น่าสนุกและมีความหมาย แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ความจริงใจ ความเข้าใจ และความเอื้ออาทรที่แสดงออกต่อกันทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวใหญ่ที่เต็มไปด้วยความรักและความผูกพันและเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย