เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2566 ชุมชนแม่อีแลบ และเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย ได้จัดพิธีกรรม “อิ๊ด่ามาหลัวะ” ภูมิปัญญาลีซูในการอยู่ร่วมกับสังคมให้เป็นสุข ณ บริเวณดอยธง เขตบ้านแม่อีแลบ หมู่ 7 ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการฟื้นฟูและสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชนเผ่าลีซู ในการจัดการทรัพยากร ดินน้ำป่า อย่างมีส่วนร่วมและก่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนทุกฝ่ายมีความเข้าใจ ยอมรับ เกิดความสามัคคี และเพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำป่า  อย่างมีส่วนร่วม

โดยในงานมีชาวบ้านจากชุมชนแม่อีแลบและชุมชนใกล้เคียง รวมถึงผู้แทนจากฝ่ายปกครองอำเภอปาย เจ้าหน้าที่ป่าไม้พื้นที่ โครงการพระราชดำริ ดอยเมี่ยง เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศ มาร่วมกิจกรรม กว่า 200 คน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดและอนุรักษ์ โดยใช้พิธีกรรม “อิ๊ด่ามา” หรือบวชป่า เป็นภูมิปัญญาลีซู ในการดูแลป่า สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้

พิศาล  ไทยร่มเย็น ผู้ใหญ่บ้านชุมแม่อีแลบ กล่าวว่า การจัดงาน “อิ๊ด่ามาหลัวะ” หรือการบวชป่าครั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูระบบคุณค่าของพิธีกรรม”อิ๊ด่ามาหลัวะ” และสืบสานภูมิปัญญาลีซูด้านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าอย่างมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และก่อให้เกิดความยั่งยืน ตลอดจนทุกฝ่ายยอมรับเกิดความสามัคคี และเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์และนโยบายด้านป่าไม้และที่ดินและภูมิปัญญาลีซูที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระหว่างแกนนำชุมชน ผู้แทน หน่วยงาน รัฐ องค์กรและเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองและภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมงาน รวมถึงเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าอย่างมีส่วนร่วม

อีกทั้งยังคาดหัวงให้คนในชุมชนบ้านแม่อีแลบได้มีการสืบทอดภูมิปัญญาลีซูในการดูแลรักษาป่าโดยจัดพิธี “อิ๊ด่ามาหลัวะ” ร่วมกัน สามารถสร้างสำนึกร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้ ผู้แทนหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมงานมีความเข้าใจในคุณค่าของกิจกรรม และเกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนันการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าของชุมชน ได้เพิ่มพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียวในบริเวณป่าต้นน้ำของชุมชนบ้านแม่อีแลบให้มีความอุดมสมบูรณ์และมีแหล่งน้ำที่สะอาดให้ชุมชนไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี และเกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชนบ้านแม่อีแลบและชุมชนใกล้เคียง ตลอดจนการหาแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่จะสนับสนุนการจัดทรัพยากรธรรมชาติบ้านแม่อีแลบในอนาคต

ต่อมาในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน มุมมอง และอนาคตจะมีการสนับสนุนกิจกรรมลักษณะแบบนี้อย่างไร?

อเนก ปันทะยม นายอำเภอปาย ซึ่งเป็นประธานในพิธีนี้ กล่าวว่าผืนป่าแห่งนี้ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เป็นของสิ่งที่ธรรมชาติที่เสริมสร้างมา ทำให้พวกเราได้อยู่ ได้ทำมาหากิน ได้มีน้ำใช้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทั้งธรรมชาติและบรรพบุรุษ ได้สรรค์สร้างและก็ดูแลรักษาเอาไว้ให้พวกเรา วันนี้สิ่งหนึ่งที่เรายังมีความเชื่อและความศรัทธาต่อสิ่งที่เราเคารพนับถือ ที่จะช่วยพวกเราในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและก็สิ่งแวดล้อมเอาไว้ให้ลูกให้หลานพวกเราได้ ในบทบาทของหน่วยงานของรัฐเอง ซึ่งผมเป็นนายอำเภอ ก็คงจะได้บรูณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลพื้นที่ โดยจะเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพย์ที่จะต้องเข้ามาดูแลปกป้องและรักษา

อีกส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงเกษตรและสรรพากรณ์ที่จะต้องเข้ามาดูว่าทำยังไง ที่จะทำให้เราใช้พื้นที่ทำกินที่เท่าเดิมหรือว่าน้อยกว่าเดิมแต่สามารถที่จะให้ผลผลิตได้มากขึ้นหรือว่าเท่าเดิม ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้เกิดนวัตกรรมในด้านการเกษตรคือการใช้พื้นที่น้อยแต่ได้ผลผลิตมาก และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งผมคิดว่าทั้งสองส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพย์เอง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรเอง ก็คงจะต้องมีการพูดคุยกัน ร่วมไม้ร่วมมือกันคือต่างคนต่างทำก็คงไม่ได้ อย่างข้าวโพดถ้าทำจำนวน 1 ไร่ ในตรงนี้ แต่ทำยังไงให้ 1 ไร่ ได้ 2 เท่า 3 เท่า ผมคิดว่าถ้าอย่างนี้โอกาสที่ชาวบ้านจะมีความต้องการพื้นที่เพิ่มขึ้นก็มีน้อยลง ในส่วนตรงนี้  ก็คงต้องฝากเอาไว้เอาไว้เบื้องต้น เพราะว่าพิธีกรบอกว่าหมดเวลาแล้ว

ท้ายที่สุดนี้ขอฝากทุกหน่วยงาน การทำงานหน่วยงานหน่วยหนึ่งไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดต้องทำงานร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน คิดว่าเราจะรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้สมดุล กับการทำมาหากินของพี่น้องประชาชนได้อย่างสมดุล

อนุภาค ดวงเดือน ผู้แทนจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย กล่าวว่าพิธีกรรมบวชป่าของชาวบ้านบ้านแม่อีแลบ เป็นสิ่งที่ดีในการอนุรักษ์หรือว่าป้องกันทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งยังมีการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูป่าให้อุดมสมบูรณ์และเป็นป่าแหล่งต้นน้ำลำธารของชาวบ้านบ้านแม่อีแลบได้ด้วย เห็นว่าจะมีการจัดทำแนวกันไฟรอบๆพื้นที่ เป็นการปลูกป่าที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ได้ดี ปัญหาที่ทำกินและที่ทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ของชาวบ้านนั้นตอนนี้เขตลุ่มน้ำปาย ก็มีโครงการที่รองรับไว้อยู่แล้ว คือโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล ได้มีการสำรวจตรวจสอบไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีการขยายเพิ่มเติมในการตัดไม้ทำลายป่า เรื่องโครงการโครงการการขยายถนน หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย ได้ทำโครงการการเทถนนคอนกรีตเข้ากับชาวบ้านแม่อีแลบและบ้านปางตองแล้ว

สุริยันณ์ จีวงศ์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด กล่าวว่าวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมพิธีกรรมดีๆ แบบนี้ ที่ทำให้เราช่วยอนุรักษ์สืบสานประเพณี และช่วยอนุรักษ์แหล่งป่าต้นน้ำของเรา สำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณที่ผ่านมา ทางอบจ. โดยการนำของท่านอัคเดจ วรรณชัยธนาวงค์ ได้บรรจุข้อบัญญัติที่จะให้การสนับสนุนโครงการที่ทำสืบเนื่องต่อ ๆ กันมาหลาย ๆ ปี เช่นโครงการดีๆ แบบนี้  ปีงบประมาณต่อไปผมจะเสนอโครงการนี้เพื่อสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่อไป

เสถียร  บุญมาลา  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว กล่าวว่าในส่วนของอบต.ทุ่งยาวในนามของอบต. โครงการ “อิ๊ด่ามาหลัวะ” ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ในการรักษาป่าต้นน้ำ เพราะว่าอย่างน้อย ๆ พ่อแม่พี่น้องคนแม่อีแลบเราต้องมีน้ำกินน้ำใช้ ไม่จะเป็นในเรื่องของการอุปโภคบริโภค และเรื่องของการเกษตร เพราะที่ผ่านมาภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาหัวโลน ก็ขอบคุณทางโครงการพระราชดำริ ที่ค่อยมากำกับดูแล 15 ปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าที่นี่ฟืนฟูและอุดมสมบูรณ์ขึ้น ในส่วนของอบต.ทุ่งยาวฝากทางชุมชนว่า ถ้าโครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประเพณี วัฒนธรรมของท่านและก็ถ้าจะทำทุกปีก็ขอฝากไว้ในแผนชุมชนของท่าน และในส่วนประเพณีถ้ายังไม่ได้เป็นประเพณีวัฒนธรรมประจำชุมชน ทางอบต. ก็จะขอจังหวัดให้เพื่อบรรจุเป็นประเพณีวัฒนธรรมของบ้านแม่อีแลบ และก็ขึ้นเป็นทะเบียนกับจังหวัดไว้ ในส่วนของอบต.ก็จะตั้งงบประมาณไว้ให้ท่าน เวลาที่ท่านจัดงานทุกปี

ร.อ.สราวุธ สุวรรณ กองร้อยทหารราบที่ 723 กล่าวว่า การได้มาเข้าร่วมพิธีครั้งนี้ได้ทราบถึงปัญหาในส่วนของพื้นที่ทำกินของชุมชนในหมู่บ้าน ขอพูดถึงแนวทางในการพัฒนาแหล่งพื้นที่ทำกิน แผนในอนาคตเช่น แผนระยะ 5 ปี 10 ปีข้างหน้าอัตราการขยายของชุมชนประชากรจะมีเท่าไหร่และให้มันสอดคล้องกับพื้นที่ทำกินของชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่าไหร่ ต้องประสานกับทางท้องถิ่น เกษตรหรือป่าไม้ว่าอัตราส่วนที่เพียงพอจะเป็นเท่าไหร่ และก็การใช้ประโยชน์จากที่ดินให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด เช่น ในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เมื่อกี้ได้ชิมกล้วยแปรรูป ซึ่งอาจจะมีอย่างอื่น เช่น เผือกหรือจะเป็นผลิตภัณฑ์ไวน์ ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ความรู้ และการตลาดและคนรุ่นใหม่ที่จะเจาะประเด็นว่า แม่อีแลบในอีก 5 ปี จะมีจุดเด่น ผลิตภัณฑ์อะไร นอกจากทรัพยากรทางธรรมชาติหรือแหล่งท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้น จะต้องอาศัยแผนการขับเคลื่อนของชุมชนและก็หลายหน่วยงานร่วมกัน

ทุ่งยาว เจริญต๋าคำ กำนัน กล่าวว่า วันนี้ก็ดีใจที่มีโอกาสได้มาเข้าร่วมการบวชป่า ผืนป่า ป่าต้นน้ำมีชีวิต คนรักป่าป่ารักคน ถ้าเราทำลายป่า ป่าก็ทำลายเรา ถ้าต้นน้ำดีมีน้ำไหล ชีวิต ครอบครัวของชุมชนบ้านแม่อีแลบ ผมว่าดีหมด ในด้านของเกษตรกร ถ้าน้ำดี ก็อุดมสมบูรณ์ การเกษตรดี ชีวิตการเป็นอยู่ก็ดีแน่นอน เพราะว่าพืชผลของเราอุดมสมบูรณ์ พี่น้องที่ขายพืชผลก็จะมีเงินมีทอง ตรงนี้ขอฝากไว้ช่วยกันรักษาทรัพยากรทุกอย่างของบ้านแม่อีแลบให้อุดมสมบูรณ์ เท่าที่ดูก็อุดมสมบูรณ์ด้วยแรงศรัทธาของพี่น้องบ้านแม่อีแลบ ด้วยความรักความสามัคคีกัน อันนี้ก็ขอชื่นชมที่ดูป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ป่าอุดมสมบูรณ์ชีวิตก็จะดีขึ้น ทั้งการเกษตร ที่ทำไร่ทำสวน ก็จะดีขึ้น

นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคม ศ.ว.ท.(IMPECT) กล่าวว่าในส่วนของสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาหรือสมาคม IMPECT เป็นองค์กรของชนเผ่าพื้นเมืองและคนที่ทำงานข้างในก็เป็นพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองทั้งหมด เป้าหมายจริงๆในการขับเคลื่อนงานก็อยากให้ชุมชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนงานด้วยตัวเองแต่ยังคงยึดโยงกับฐานวัฒนธรรมของตนเอง

สมาคมยังมุ่งเน้นที่จะให้เกิดองค์กรเครือข่ายในระดับพื้นที่ เช่น ในอนาคตพื้นที่บ้านแม่อีแลบจะกลายเป็นต้นแบบและขยายไปในระดับลุ่มน้ำหรือตำบลและอาจผลักดันให้เป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรร่วมเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนพื้นที่สูงและคนพื้นที่ราบ รวมถึงใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

วรวุธ ตามี่ผู้แทนศูนย์พิทักษ์ชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าศูนย์พิทักษ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นศูนย์ที่ทำหน้าที่ในการให้ความรู้กับเรื่องกฎหมาย สิทธิมนุษยชน ทั้งกฎหมายที่ดิน กฎหมายทรัพยากร รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับสากล วันนี้ที่ได้มาร่วมงานก็ถือว่าเป้นวันที่ดี ผมคิดว่าลีซูบ้านแม่อีแลบ เขามีศักยภาพในการดูแลพื้นที่ป่ามากพอสมควร ตอนนี้ในเชิงนโยบายเกี่ยวข้องในเรื่องของคาร์บอนเครดิต เป็นเรื่องของการดูแลพื้นที่ป่า เพื่อให้โลกมันเย็นลง ทีนี่หลายพื้นที่มีข้อจำกัด หมู่บ้านแห่งนี้มีการบูรณาการที่ดี ศูนย์ราชการก็มีความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับศูนย์ราชการ ลีซูเป็นหนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองที่กฎหมายระหว่างประเทศเขาบอกว่า ปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ว่าด้วยเรื่องของการดูแลฟื้นฟู และปกป้องทรัพยากรของพี่น้องชนเผ่าที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ อันนี้ถือได้ว่าตอบโจทย์พี่น้องบ้านแม่อีแลบด้วย อันที่สองว่าด้วยเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ก็คือพี่น้องบ้านนี้ตอบโจทย์ในเรื่องของการดูแลฟื้นฟู รักษาและการใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย

วรินธร สีวลี ที่ปรึกษาเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทุกวันนี้เราก็เห็น “อิ๊ด่ามา” หรือบวชป่า ของเครือข่ายลีซู เป็นแนวร่วมหรือเป็นเครือมือหนึ่ง ที่ผู้นำลีซู ที่มีจิตอาสา มีการศึกษา พอมีเวลามาช่วยรวมตัวเป็นเครือข่ายเอามาช่วยลีซู อย่างหลายพื้นที่ อย่างไทรงามมีการดูแลป่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536-2537 เป็นต้นมา เขาได้มีการพัฒนา มีการปลูกต้นไม้ ทำแนวกันไฟ เกือบทุกปีทำกันเรื่อยมา แนวโน้มทุกวันนี้ที่สมาคม IMPECT เป็นคนที่จุดประกายให้ชาวบ้าน ตอนนี้หลายหน่วยงานก็เป็นฟืนให้ชาวบ้านไปสานต่อ สนับสนุนก่อตั้งงบประมาณให้ชาวบ้าน อย่างประเพณี “อิ๊ด่ามา”  อบต.ก็ตั้งงบให้ได้ปีละหมื่น สองหมื่น แต่สมาชิกต้องไปนำเสนอให้นายก เพื่อที่นายกจะได้นำเข้าข้อบัญญัติ

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเราก็มาให้กำลังใจชาวบ้าน ให้ความรู้ เติมเต็มกันและกัน เพื่อประโยชน์รวมกัน เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศที่ดีของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราเป็นเจ้าของร่วมกันดูแลร่วมกัน

หลังจบกิจกรรมเวทีเสวนาเสร็จผู้ใหญ่บ้านได้นำชาวบ้านและส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันปลูกกล้าไม้รอบๆ บริเวณพื้นที่ทำพิธกรรม “อิ๊ด่ามาหลัวะ” เพื่อแสดงถึงการฟื้นฟูและสืบทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชนเผ่าลีซู ในการจัดการทรัพยากร ดินน้ำป่า อย่างมีส่วนร่วมและก่อให้เกิดความยั่งยืน