ครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กว่า 38 กลุ่มชาติพันธุ์ เดินทางไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ศูนย์ข่าวภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออ่านคำแถลงการณ์ต่อกรณีพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งว่า “เชียงใหม่อ่วมอีก ชาวเขาแห่เผาป่า รอเพาะปลูกฤดูฝน” วอนสื่อหยุดนำเสนอข่าวเหมารวม หวั่นสร้างความแตกแยกในสังคม คนดูแลป่าเสียกำลังใจ พร้อมยืนยันชาวบ้านให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยดีตลอดมา ด้านหัวหน้าศูนย์ข่าวขออภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และจะระมัดระวังการนำเสนอข่าวในอนาคต
วันนี้ 2 พฤษภาคม 2562 เวลาประมาณ 10.00 น. ที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ศูนย์ข่าวภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีกลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายชนผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 38 กลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายจำนวนหนึ่ง ได้ยื่นหนังสือต่อหัวหน้าศูนย์ข่าวฯ เพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบต่อกรณีมีการพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2562 ว่า “เชียงใหม่อ่วมอีก ชาวเขาแห่เผาป่า รอเพาะปลูกฤดูฝน” ซึ่งข้อความดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย แกนนำยืนยันว่าชนเผ่าพื้นเมืองได้ดูแลทรัพยากรด้วยดีมาตลอด และต่อสู้กับไฟป่าอย่างเหน็ดเหนื่อย แม้ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ก็ตาม
“ในข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่ผ่านมาชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองได้มีการจัดการไฟป่า อย่างเป็นระบบ และได้ร่วมกันดับไฟป่ามาอย่างเต็มที่และต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการอาสาสมัครของ คนในชุมชนที่มาร่วมด้วยช่วยกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงความยากลำบากและความเหน็ดเหนื่อย หลายชุมชนดำเนินการ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานใด ๆ และบางแห่งยังมีผู้ที่เสียชีวิตจากการเข้าไปดับไฟด้วย” ความตอนหนึ่งในแถลงการณ์
นอกจากสร้างความไม่สบายใจแล้ว เครือข่ายชนเผ่ายังเป็นห่วงว่าการนำเสนอข้อมูลในลักษณะนี้ ขาดท้อเท็จจริงรอบด้าน อาจนำไปสู่การสร้างความเข้าผิดในสังคมและเกิดเหตุขัดแย้งบานปลายได้
“จากการนำเสนอข่าวดังกล่าวนี้ ถือเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เป็นการตีตราและเหมารวม เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ถือเป็นการนำเสนอข้อมูลของบุคคลที่มีอคติทางชาติพันธุ์ และเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งทำให้สังคมโดยทั่วไปมีความเข้าใจที่ผิดและอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน คนไทยที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรมได้”
ขณะที่นายชัยพินธ์ ขัติยะ หัวหน้าศูนย์ข่าวฯ กล่าวว่าตนเองเป็นคนเชียงใหม่ เคยคลุกคลีและเข้าใจวิถีชีวิตของคนดอย (กลุ่มชาติพันธุ์) ตลอดจนได้เห็นบทบาทในการอนุรักษ์ป่าไม้ด้วย แต่กรณีที่มีการพาดหัวข่าวดังกล่าว เนื่องจากเขียนไปตามข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าว ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ จึงขออภัยกับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ในอนาคตระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวที่เหมารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนทางด้านนางสาววิไลลักษณ์ เยอะเบาะ ผู้แทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ กล่าวว่าการนำเสนอข่าวในลักษณะตีตราเช่นนี้ ส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังด้วย ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขได้ยาก ดังนั้นจึงขอวิงวอนให้สื่อมวลชนทุกแขนง หลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลในเชิงเหมารวม และถ้าหากสื่อมวลชนสำนักใดต้องการเข้าพื้นที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันในสังคม