“เย เกาะและ เย เกาะ เกือคี  จ้อ อะ ก่อลือ บู้ อะ สะ ยี  บิ เบ อวา เคลอ มึ เกลอ บลา กะ นา แล แข่ อะ เจอ”

          เย (ชื่อภาษาปกาเกอะญอ)  หรือจักจั่น ทาบทนี้ เป็นทาภาษาปกาเกอะญอ ที่นำเสียงของจักจั่นมาเปรียบเปรย กับเสียงของผู้ชายที่ใจไม่ซื่อตรง และคนที่รักกันดี ๆ ก็มีคนมาแย่งไป

หมู่บ้านแม่ยางมิ้น(แม่ยามิคี) ตำบลศรีถ้อย อำเภอศรีถ้อย จังหวัดเชียงราย จะมีเยหรือจักจั่น ในทุก ๆ 7 ปีเท่านั้นที่จะขึ้นมาลอกคราบใหม่ ๆ จะมีสีขาว ปีกสีใสและมีสีฟ้าอ่อนทำให้ดูสวยงาม ชอบเรียกว่า “นางฟ้า” หรืออีกชื่อ คือ เยปอเซอคะ (จักจั่นตัวเล็กสีดำลายจุดสีขาว) สายพันธุ์นี้ถ้าแปลตามภาษาภาษาปกาเกอะญอ จะชื่อว่า จักจั่นผี เนื่องจากมันจะออกมาตอนกลางคืนมีสีดำ และเสียงร้องที่เล็กแหลมทำให้รู้สึกวังเวง เหมือนเสียงผี สายพันธุ์นี้จะออกมาจากดินหลังสุด และจะชอบรวมตัวกันที่ก่อไผ่ หรือใต้ต้นไม้ที่มันขึ้นมาลอกคราบ เมื่อมันขึ้นมาลอกคราบใหม่ๆจะมีสีขาว ปีกสีใสและมีสีฟ้าอ่อนทำให้ดูสวยงาม คนชอบเรียกว่านางฟ้า ชาวบ้านจะชอบมาจับตอนที่มันยังเป็นนางฟ้าเพราะว่ามันนุ่มและมีเนื้อเยอะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ซักพักมันจะเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีดำ เมื่อมันเปลี่ยนเป็นสีดำแล้วมันจะบินไปรวมกันเป็นกลุ่ม ตามก่อไผ่ หรือต้นไม้ใหญ่

จักจั่น หรือเย เป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ดูดน้ำเลี้ยงของต้นไม้เป็นอาหาร ว่ากันว่า ช่วงเวลาที่เราได้ยินเสียงของมัน แสดงว่าเป็นช่วงชีวิตสุดท้ายของมันแล้ว เพราะวงจรชีวิตของจักจั่นส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ดิน มันจะขึ้นมาจากดินและลอกคราบช่วงโตเต็มวัย และเริ่มเข้าสู่การผสมพันธุ์ วางไข่แล้วก็ตาย ช่วงที่เริ่มได้ยินเสียงและพบได้มากคือในช่วงหน้าร้อน ประมาณเดือนมีนาคม ถึงมิถุนายนเท่านั้น ชาวบ้านถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของหน้าร้อนอีกอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อเริ่มได้ยินเสียงของจักจั่น แสดงว่าถึงหน้าร้อนแล้ว ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หมู่บ้านแม่ยางมิ้น(แม่ยามิคี) ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก็จะรอคอยว่าปีนี้จะมีจักจั่นมากพอให้จับหรือไม่ เพราะปีไหนที่มีจักจั่นมาก ปีนั้นจะได้เก็บไว้กินได้เยอะและมีรายได้เสริมจากการจับจักจั่นมาขาย

เย หรือจักจั่น มีหลายสายพันธุ์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แต่ที่พบมากในหมู่บ้านแม่ยางมิ้น(แม่ยามิคี) มี 3 สายพันธุ์ คือ เย(จักจั่นตัวเล็กสีเขียวเปลือกไม้) จั้ว(จักจั่นตัวใหญ่สีน้ำตาลแดง)  และเยปอเซอคะ(จักจั่นตัวเล็กสีดำลายจุดสีขาว) ชนิดที่เรียกว่า เย เฉยๆจะชอบอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และบริเวณบ้าน ตอนบ่ายจะเริ่มส่งเสียงพร้อมกันและจะดังสุดช่วงตอนเย็น มันจะชอบเกาะต้นไม้และบริเวณที่มีน้ำ ยิ่งถ้าเป็นริมแม่น้ำจะมีจำนวนมากลงเกาะที่ พื้นทราย เมื่อเราเดินไปบริเวณนั้นพวกมันจะพร้อมใจกันบินขึ้นและบางตัวก็จะมาชนหน้าและมาเกาะที่ตัวเรา ซึ่งถ้าเราจะจับมาทำอาหารต้องมาจับริมแม่น้ำเพราะจะได้จำนวนมาก สายพันธุ์ที่ 2 คือ จั้ว(จักจั่นตัวใหญ่สีน้ำตาลแดง) จะพบเฉพาะแค่ตอนหัวค่ำและตอนดึกๆในคืนที่อากาศร้อนชื้นเท่านั้น และจะพบมากบริเวณริมแม่น้ำเพราะจะลงมากินน้ำช่วงกลางคืน ต้องใช้ไฟส่องและสังเกตดีๆถึงจะเห็นแล้วค่อยๆย่องไปจับ ผู้อาวุโสในหมู่บ้านบอกว่า ทุกๆ 4 ปีหรือทุกๆ 7 ปี เท่านั้นถึงจะมีจำนวนมากพอให้จับมากิน เคยมีปีหนึ่งที่มีจำนวนมากหนึ่งคืนสามารถเก็บได้เต็มกระสอบ และในปีเดียวกันนั้นมันพากันไปเกาะต้นลำใยของชาวบ้านถึงขั้นทำให้ลำใยของชาวบ้านตายไปหลายต้น

เย หรือจักจั่น จะบินไปรวมกันเป็นกลุ่ม ตามก่อไผ่ หรือต้นไม้ใหญ่ บริเวณไหนที่มันรวมกลุ่มกันเยอะ ๆ บริเวณนั้นถ้าเราไปอยู่ใต้ต้นไม้นั้นเราจะเปียกไปด้วยฉี่ของมัน ทุกๆ 4-7 ปี เท่านั้นที่ จะออกมาเยอะเป็นพิเศษมันจะส่งเสียงร้องดังไปทั่วทั้งป่าและบริเวณใกล้ ๆ ทำให้บางคนรู้สึกไม่ชอบและรำคาญ แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงมันจะออกมาส่งเสียงร้องให้เราได้ฟังเพียงแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น และก็เป็นช่วงวงจรชีวิตสุดท้ายของมัน ที่จะออกมาส่งเสียงเพื่อสืบพันธุ์ วางไข่ และตายไป

ด้วยปัจจุบันสภาพป่าที่ลดลงและเสื่อมโทรมลง รวมถึงคนที่เพิ่มมากขึ้นมีการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีมากขึ้น  มีการจับตัวอ่อนมาทำอาหารกินและนำไปขาย จึงทำให้จักจั่นลดน้อยลง ถ้าเราไม่รักษาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า หรืออนุรักษณ์พื้นที่วางไข่ขยายพันธุ์ของจักจั่น เราอาจจะไม่ได้ยินเสียงของแมลงชนิดนี้อีกเลย  “นางฟ้า”  เสียงแมลงสัญลักษณ์ของหน้าร้อน ที่คอยร้องเตือนคนในชุมชนว่าถึงช่วงเดือนของหน้าร้อนแล้ว

เขียนโดย: มะลิวัลย์ เต๊จ๊ะ