เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Education Network (IEN) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19-21 ธันวาคม พ.ศ.2554 โดยความร่วมมือของชุมชนชนเผ่าพื้นเมือง 9 กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงที่ดำเนินการจัดการศึกษาทางเลือกในชุมชน (กะเหรี่ยง คะฉิ่น ดาราอาง ม้ง เมี่ยน ลเวือะ ละหู่ ลีซู และอ่าข่า)

IEN

ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการศึกษา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานและขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันอย่างมีพลัง รวมถึงมุ่งหวังให้ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาของรัฐที่มีคุณภาพและคุณธรรมโดยมีเครือข่ายการศึกษา   ชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้ร่วมกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองรวมถึงชุมชนสามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมอย่าง       ยั่งยืนด้วยตนเอง

เนื่องจาก “การศึกษาในระบบถูกออกแบบ เพื่อสนองตอบสังคมอุตสาหกรรมจึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ คือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมลดลงและหายไป เนื่องจากประเทศไทยลอกแบบของตะวันตกมาเต็มรูปแบบ”

DSC05305_resize1

“ผู้ที่ผ่านการศึกษาในระบบขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี  วัฒนธรรมท้องถิ่นขาดการสืบสานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นเสมือนคนไร้รากเหง้าทางวัฒนธรรม”

ข้อมูลดังกล่าวคือเสียงสะท้อนถึงผลกระทบของการศึกษาในระบบที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองจากเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูปการศึกษาไทย (13 ตุลาคม 2555 ณ สมาคม IMPECT) และในเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา เครือข่ายฯได้พยายามพัฒนากลไก วางแผน และจัดกระบวนงานให้มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยมีองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยร่วมเป็นกองเลขา อาทิเช่น สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา มูลนิธิรักษ์เด็ก มูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ โรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า สวนเจ็ดริน เป็นต้น รวมทั้งได้จัดเวทีเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานและพัฒนาศักยภาพของแกนนำ ตลอดจนได้ผลักดันนโยบายการศึกษาที่เกี่ยวข้องร่วมกับองค์กรภาคีมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การคัดค้านนโยบายการยุบ ควบ             รวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการออกจดหมายเร่งรัดให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขึ้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน เป็นต้น

381433_245366272271935_306077650_n_resize

แม้ว่าหนทางของการดำเนินงานขับเคลื่อนเพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กชนเผ่าพื้นเมืองที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เด็กและชุมชนไม่หลงลืมรากเหง้า เข้าถึงสิทธิ และดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันอย่างมีความสุข จะยังคงต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานานัปการ แต่การร่วมมือร่วมแรงกายแรงใจ เป็นเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งก็ทำให้เส้นทางนี้คงไม่โดดเดี่ยวอ้างว้างจนเกินไป

โดย  นางสาววิไลลักษณ์  เยอเบาะ