จันทนี พิเชฐกุลสัมพันธ์

สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 15 (Conference of the Party: COP15) เมื่อปลายปี 2022 และได้มีการรับรองกรอบงานคุณหมิง-มอลทรีออล ความหลากหลายทางชีวภาพ (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM GBF) โดยกรอบงานนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น หยุดยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมุ่งเน้นและส่งเสริมให้เกิดการทบทวน พัฒนา ปรับปรุง และดําเนินงานตามนโยบาย เป้าหมายยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลากหลายทางชีวภาพในทุกระดับ และส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารภายใต้อนุสัญญาที่มีการตกลงร่วมกันในภาคีสมาชิก ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ

โดยมีพันธิกิจ คือ เร่งหยุดยั้งและลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียม ภายใต้แนวทางการดำเนินงานจำเป็นและเหมาะสม โดยกรอบงานคุณหมิง-มอลทรีออล ความหลากหลายทางชีวภาพ มี 23 เป้าหมาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กลุ่มที่ 2 การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และกลุ่มที่ 3 เครื่องมือการแก้ปัญหาการดำเนินงาน และการผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก

ดังนั้นประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ แต่ละประเทศจะต้องจัดทำแผนบริหารในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (NBSAPs) ให้สอดคล้องกับกรอบงานคุณหมิง-มอลทรีออล ความหลากหลายทางชีวภาพ (KM GBF) ซึ่งในประเทศไทย นำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ได้ดำเนินออกแบบและร่างแผนดังกล่าวขึ้นมา โดยมีเนื้อหา 3 ยุทธศาสตร์ และ 12 เป้าหมายแห่งชาติ โดยมี ยุทธศาสตร์ที่ 1 เป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและขจัดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศชนิดพันธุ์ และการใช้บริการระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบเสียหายหรือเสื่อมสภาพทั้งในที่บนบกและในทะเล ยุทธศาสตร์ที่ 2 การใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าจากทรัพยากรชีวภาพและพันธุกรรมเพื่อภาคการผลิตและการบริการี่ยั่งยืน ให้เกิดรายได้จากเศรษฐกิจฐานชีวภาพและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้มแข็งทุกภาคส่วน ให้มีเครื่องมือ องค์ความรู้ ข้อมูล กลไกการเงิน แรงจูงใจ แหล่งเงินทุน ตลอดจนกฎระเบียบ เพื่อให้ร่วมกันดำเนินงานและขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ให้บรรลุเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ

ซึ่งที่ผ่านมา สผ.และ UNDP ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียร่วมทุกภาคส่วน และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ได้จัดเวทีเฉพาะให้กับกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เยาวชน สตรี และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมทั้งได้เสนอแนะต่อแผนนี้ โดยสรุปย่อๆ มีดังนี้ การดำเนินกิจกรรมจะต้องคำนึงถึงสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ทรัพยากรทั้งทางบกและทางทะเล ให้ชนเผ่าพื้นเมืองเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเอาแนวคิดการใช้ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม (Cultural landscape) ให้การเคารพวิถีชีวิตดั้งเดิมในการจัดการพื้นที่ป่าและความหลากหลาทางชีวภาพ นอกจากนั้นให้ใช้กระบวนการฉันทานุมัติที่ได้รับการบอกกล่าวแจ้ง รับรู้ ล่วงหน้า และเป็นอิสระ (FPIC) และหนุนเสริมสร้างแรงจูงใจการใช้ที่ดินแบบที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างพื้นที่สีเขียว ลดจำนวนพื้นที่ป่าที่ได้รับการสัมปทานทำเหมืองแร่ เขื่อน ปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยให้คำนึง อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ 8j and 10c นอกจากนั้นให้ภาครัฐรับข้อเสนอแนะของชนเผ่าพื้นเมืองเกี่ยวกับร่าง พรบ. ความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการทบทวนกฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อมให้มีความทันสมัย เคารพถึงสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมการจัดการโดยชุมชน

ซึ่งเป็นกลไกสำคัญสำหรับการดำเนินงานในด้านการจัดการทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับการดำเนินการตามแผนนี้มาสู่ปฏิบัติการระดับพื้นที่ และชนเผ่าพื้นเมืองจะต้องหาช่องทางหรือกลไกเพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในแผนนี้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป