สุพรรณษา จันทร์ไทย
“ชนเผ่าพื้นเมืองไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่แต่งตัวแปลกๆ พูดภาษาแปลกๆ ต่างจากคนกรุงเทพ หรือแค่กลุ่มคนที่อยู่บนดอยเท่านั้น เช่นเดียวกับกฎหมายชนเผ่าพื้นเมืองและชาติพันธุ์ที่พวกเรากำลังผลักดันกันอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้มีเพื่อให้เรามีสิทธิพิเศษกว่าใคร แต่มีเพื่อคุ้มครองสิทธิ และส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย”

วันที่ 18 มกราคม 2567 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และภาคีองค์กรเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมรณรงค์สื่อสารทำความเข้าใจกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้ชื่องาน “KICK OFF: กฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค” ณ กาดซอกจ่า บ้านผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับเกียรติจาก ท่านเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการเปิดงานครั้งนี้
บรรยากาศภายในงานตลอดสองฝั่งทางเดินหน้างานจนถึงด้านหน้าเวที เต็มไปด้วยบูธนิทรรศการแสดงสินค้าหัตถกรรม สินค้าชนเผ่าพื้นเมือง อาหารประจำชนเผ่าต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ตะวันออก ตะวันตก และภาคใต้ รวมไปถึงนิทรรศการความรู้เรื่องสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นแกนหลักสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอันสวยงามจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ประเพณี ทั้งยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองความก้าวหน้าของการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้คณะรัฐมนตรีรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปพิจารณาก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติรับหลักการ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ในการที่จะแสดงออกถึงอัตลักษณ์ ตัวตนของตนเองในสังคมได้อย่างเสมอภาค
และอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญภายในงาน นั้นคือ เวทีเสวนาวิชาการ “กฎหมายชาติพันธุ์: ตัวตนและศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์“

ผู้จัดงานได้เชิญตัวแทนจากองค์กร หน่วยงานราชการ และภาคีภาคประชาสังคมที่เป็นแกนนำหลักในการผลักดัน และขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่
- คุณอภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
- คุณศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
- คุณไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท
- คุณจิรนันท์ เจียมเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน
- คุณสมภพ ยี่จอหอ DoiSter ดอยสเตอร์
- คุณณาตยา แวววีรคุปต์ (ผู้ดำเนินรายการ)
การเสวนาวิชาการนี้ได้พูดถึงที่มาที่ไปของกฎหมายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการที่พวกเราชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจะถือกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับเรา ทั้งในส่วนของการคุ้มครองสิทธิต่างๆ การส่งเสริมวัฒนธรรมวิถีชีวิต จนไปถึงการกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิดตัวเองของคนรุ่นใหม่อย่างไรให้เกิดคุณค่ากับตัวเองและชุมชน
ในช่วงแรกของการเสวนา ผู้ดำเนินรายการได้ถามคุณศักดิ์ดาว่า ภายในงานได้ยินชื่อกลุ่มชาติพันธุ์แปลกๆหลายชื่อ มีชื่อกลุ่มไหนที่รู้สึกว่าแปลกที่สุด คุณศักดิ์ดาตอบว่า “ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยได้แปลกนักเพราะว่าเราก็ทำงานด้วยกันนะครับ” คำถามและคำตอบสั้นๆ นี้สะท้อนให้เห็นความสำคัญถึงการมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้สึกว่าการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นเรื่องที่แปลก และมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้ ในขณะที่เรากำลังผลักดันวาระทางกฎหมายนี้ให้สำเร็จ สิ่งที่ต้องขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วยกันนั้น คือการเปิดพื้นที่ เปิดตัวตน สร้างโอกาสให้คนภายนอกได้ทำความรู้จักกับเรามากขึ้น แสดงศักยภาพของเราให้สังคมได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของประชากรในประเทศที่มีความหลายหลายทางพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทางภาษา ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ยังคงอยู่ร่วมกันได้ในสังคมอย่างสันติ
กว่าสมาชิกจากทุกภูมิภาค จะผ่านทะเล ผ่านภูเขา ผ่านถนนเกือบ 2,000 โค้ง เพื่อรวมตัวกันได้งานนี้นั้นบางท่านใช้เวลานานถึง 48 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงพลังส่วนหนึ่งของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ว่ามีศักยภาพและมีความพร้อมในการขับเคลื่อนชุมชนของตัวเอง รวมถึงสามารถเป็นประชากรที่ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีคุณภาพ หากพวกเราได้รับการเคารพ และการยอมรับในตัวตนอย่างเสมอภาค
