ชนเผ่าลาหู่ (Lahu)
ชื่อชนเผ่าพื้นเมือง (ที่ตนเองเรียก ที่คนอื่นเรียก: ทั้งภาษาไทย และEnglish)
ชื่อที่ตนเองเรียก ละหู่
ชื่อที่คนอื่นเรียก ภาษาไทย ลาหู่ ภาษาอังกฤษ LAHU
ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน/ถิ่นที่อยู่
ชนเผ่าลาหู่ มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศธิเบต และเคยมีอาณาจักรเป็นของตนเองในดินแดนที่เรียกว่า “ดินแดนแห่ง 18 หัวหน้าชนเผ่า” โดยมีเมืองหลวงชื่อ “ลิเชียงกาซี” อยู่ในมณฑลยูนนานของประเทศจีน ต่อมาได้ถอยร่นลงสู่ประเทศพม่า ลาว และได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทย ทางบ้านต้นน้ำแม่มาว ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการกระจายอยู่ใน 7 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ มีจำนวนประชากรประมาณ 102,287 คน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ได้แก่ ลาหู่ญี ลาหู่นะ ลาหู่เชเล ลาหู่ซีบาเกียว ลาหู่ซีบาหลา ลาหู่แฮะก๊าย ลาหู่ฟู และลาหู่กู่เลา เป็นต้น
ระบบครอบครัวและเครือญาติ
ครอบครัวของชนเผ่าลาหู่เป็นครอบครัวขยายจะมีบ้างที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมีหัวหน้าครัวเรือนเพียงคนเดียวและทุกคนจะต้องเชื่อฟ้งและเคารพต่อหัวหน้าครัวเรือน การนับญาตินั้นจะนับญาติทางสามีและภรรยาเข้าด้วยกัน
โครงสร้างการปกครองและสังคม
โครงสร้างสังคมชนเผ่าลาหู่จะประกอบด้วย ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง อาดอ ( คะแซ ) คือ ผู้นำหมู่บ้าน ส่วนที่สอง โตโบ คือ พระหรือนักบวชทำหน้าที่สั่งสอนคนให้เป็นคนดี และส่วนที่สาม จาหลี๋ คือ ช่างตีเหล็ก มีหน้าที่ผลิตเครื่องมือการเกษตร ชนเผ่าลาหู่เชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่มี ๓ ส่วนดังกล่าว ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่และมั่นคงต่อไปได้ ชนเผ่าลาหู่ให้ความนับถือผู้อาวุโสทั้ง ๓ ส่วนนี้มาก และทุกปีคนในหมู่บ้านทุกครัวเรือนจะไปทำงานให้ครอบครัวของผู้อาวุโสทั้ง ๓ ส่วนนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ช่วยดูแลให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้าน ด้านการปกครองชนเผ่าลาหู่จะใช้รูปแบบของจารีตประเพณี เช่น เมื่อมีการร้องเรียนหรือข้อพิพาท ผู้นำหมู่บ้านจะเชิญหัวหน้าครอบครัวทุกหลังคาเรือนมาประชุมเพื่อชี้แจง ปรึกษา และตัดสินคดีข้อพิพาท ถ้าหากผลการตัดสินเกิดความขัดแย้งขึ้น จะเชิญผู้นำหมู่บ้านกับผู้อาวุโสจากหมู่บ้านอื่นที่มีความเป็นกลางมาว่าความ และตัดสินใจชี้ขาดเสมือนผู้นำในหมู่บ้าน ถ้าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงจะมีโทษเพียงปรับเป็นเงินตามอัตรากฎจารีต ของหมู่บ้านที่ได้มีการตกลงกันไว้ หากเป็นความผิดร้ายแรงผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษปรับตามกฎจารีตแล้วถูก ขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นต้น
ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ
ชนเผ่าลาหู่นับถือ (กื่อซา) กื่อซา คือพระเจ้าซึ่งมีความเชื่อว่า (กื่อซา) เป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามทั้งหลายในโลกนี้เป็นผู้ที่ทำให้เรามีความสุขและบันดาลสรรพสิ่งต่าง ๆให้แก่เรา ถ้าหากเราทำทำผิดหรือทำสิ่งไม่ดีก็จะถูกลงโทษได้ นอกจาก (กื่อซา) ยังมีผีเรือนและผีหมู่บ้านที่ลาหู่นับถือ และเชื่อว่าผีเรือนทำหน้าที่ป้องกันภัยให้แก่คนในบ้าน สำหรับผีร้ายที่ลาหู่เกรงกลัวนั้นมีมากมายเช่น ผีฟ้า ผีป่า ผีภูเขาหลวง เป็นต้น
การทำมาหากิน และวิถีการผลิตพื้นบ้าน
ในอดีตชนเผ่าลาหู่ประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อบริโภค พืชที่นิยมปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด งา และพริก เป็นต้น ระบบการทำไร่นั้นจะเป็นการทำไร่แบบหมุนเวียน ไร่หนึ่งผืนจะใช้ประโยชน์ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจะทิ้งไว้ประมาณ 10-15 ปีแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องที่ดิน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เป็นการผลิตที่มุ่งเน้นเพื่อการค้ามากขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานและใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ไก่ สุกร ม้า และล่อ เป็นต้น
มรดกทางวัฒนธรรม
ชนเผ่าลาหู่เป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่ดีงาม มากมายไม่แพ้เผ่าอื่นๆ เช่น ภาษา การแต่งกาย วิธีการหาปลา หัตถกรรม ศิลปะการแสดงและดนตรี ฯลฯ สิ่งที่โดดเด่น และเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไปได้แก่ การเป่าแคน และการเต้นจะคึ องค์ความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ชาวลาหู่ได้มีการสืบทอดถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามวิถีชีวิต
บทสรุปส่งท้าย
ปัจจุบันวัฒนธรรม องค์ความรู้ภูมิปัญญาของชนเผ่าลาหู่ เริ่มมีการสูญสลายเหมือนชนเผ่าอื่น ๆ ด้วยข้อจำกัดและปัจจัยหลายประการ อาทิ การศึกษา ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต ค่านิยม และระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น ทำให้หลายองค์กร หลายหน่วยงาน รวมทั้งชนเผ่าลาหู่เอง พยายามมีการรื้อฟื้น และอนุรักษ์วัฒนธรรม องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป
ส่งข้อมูลที่แก้ไขมาได้ที่ nipt_secretar@gmail.com