ภัทรดร ธาราอุดมสุข

แกนนำเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศมารวมตัวกันที่นี่เพื่อแสดงศักยภาพ เป็นตัวของตัวเอง ปลดปล่อยความรู้สึกที่มีอยู่ผ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์ที่พบเจอในครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน เพื่อจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและโอบรับความหลากหลาย ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้คนภายนอกได้รับรู้ตามสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน ที่เป็นคนขับเคลื่อนสังคมต่อไป

          เริ่มต้นด้วยวันแรกกับพี่ฮั๊วะทำข้อตกลงร่วมกัน คือร่วมกันเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง เข้าห้องน้ำตามเพศสภาพของตนเองได้ (เข้าห้องน้ำตามความรู้สึกของเรา) ดูแลตัวเอง พักได้ สังเกตความรู้สึกตัวเอง ไม่แตะต้องตัวก่อนรับอนุญาต

          เริ่มแรกผ่านกิจกรรม เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ LGBTQIA+ ผ่านใคร กิจกรรมนี้ผู้เข้าร่วมหลากหลายคนได้สะท้อนความคิดเรื่องมองย้อนกลับไป เรื่องประวัติศาสตร์ LGBTQIA+ ใครเป็นเริ่มแรกที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิ ต่อด้วยกิจกรรมแผนที่การเดินทาง ที่ให้ทุกคนได้เล่าว่า ได้รู้จักหน่วยงานหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเราได้รู้ว่า องค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายทางเพศเป็นองค์กรเริ่มแรกเมื่อ 38 ปีที่แล้ว คือ กลุ่มอัญจารี (องค์กรสนับสนุนและปกป้องสิทธิคนรักเพศเดียวกัน) และสำหรับเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) ได้รู้จักองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คือ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ผ่านอาจารย์โน๊ต ระตี และจากนั้นด้วยโอกาสและเวลาที่เหมาะสม ทางมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ได้ทำงานและร่วมเป็นภาคีกับทางสมาคม IMPECT กับประเด็นเรื่องพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเป็นความหลากหลายทางเพศ

          จากนั้นก็มีกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์สำคัญของงานนี้คือ กิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อย ที่มีหัวข้อแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจคือ “อะไรคือปัญหาของเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ การให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร และประเด็นอะไร” ซึ่งแต่ละกลุ่มย่อยได้มีการสะท้อนและแลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่พบเจอผ่านประสบการณ์ของตัวเอง แบ่งตามประเด็นใหญ่ 3 เรื่อง คือ 1. สถานการณ์ในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงความคาดหวังของครอบครัวที่ต้องการให้ลูกตัวเองมีครอบครัวเพื่อที่จะสามารถเลี้ยงดูและสืบทอดทายาทได้ เป็นต้น 2. สถานการณ์ในสถานศึกษา ที่จำกัดและริดรอนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น การถูกครูบูลลี่ หอพักในสถานศึกษา เป็นต้น 3. สถานการณ์ในสังคมทั่วไป เช่น การใช้ห้องน้ำในที่สาธารณะของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การไม่รับคนหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน รวมถึงสถานการณ์ของชนเผ่าพื้นเมืองของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บางชุมชนที่แกนนำไม่ยอมให้บุคคลหรือองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศเข้าไปในพื้นที่เพราะกลัวว่าคนในชุมชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นประเด็นความหลากหลายทางเพศ รวมถึงชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในหลายพื้นที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลด้วยภาษาที่ไม่เข้าใจ บุคคลหรือผู้ปกครองอาจทำให้ยังไม่ยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น จะเห็นว่ากิจกรรมนี้เหมือนเป็นการรวบรวมสถานการณ์ที่ทุกคนประสบพบเจอ มาสื่อสารในเวทีวันนี้ซึ่งบางสถานการณ์เป็นเรื่องที่เปราะบางและละเอียดอ่อนมากที่จะสื่อสารออกไป

          และมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญของวันนี้ คือ ต้นไม้แห่งการเติบโต ต้นไม้แห่งความหวัง ส่วนประกอบของต้นไม้ที่มี รากที่แทนสิ่งที่ทุกคนยึดมั่น ลำต้นแทนระบบที่เข้าหนุนเสริม กิ่งก้านแทนความรู้ที่มี ทักษะ ปัญญาที่เกิดในชุมชนที่ส่งเสริมกระบวนการการเคลื่อนไหวของเยาวชน ใบไม้แทนความสำเร็จที่เกิดขึ้นในกลุ่ม และระดับการเคลื่อนไหว ดอกไม้แทนความหวัง และความฝันที่อยากเห็น ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการระดมความคิดเห็นว่า เราใช้อะไรยึดมั่นในการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศ ในการขับเคลื่อนนั้นมีใครหรือหน่วยงานหรือกลไกไหนบ้างที่หนุนเสริมหรือมาเชื่อมกัน จากนั้นเราจะต้องมีความรู้ ทักษะความสามารถที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนไหวของเยาวชน และทั้งหมดเหล่านี้ข้างต้น ที่จะทำให้เกิดความหวัง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม

          และเช้าวันต่อมาของงานที่มีเวทีเสวนา มิตรภาพเพื่อการเติบโตช่วงที่ 1 ที่มีตัวแทนเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่าง ลูกพีช เยาวชนที่มีแรงบันดาลใจจากความเจ็บปวด ความเจ็บปวดที่ไม่ได้มาจากครอบครัวแต่มาจากสถาบันการศึกษาในโรงเรียน ลูกพีชเล่าว่า ตอนนั้นไม่สามารถทำกิจกรรมบางอย่างได้คือคุณครูโรงเรียนไม่ให้การลงสมัครประธานนักเรียน ก็เลยชาเล้นท์ตัวเอง โดยการเรียนศึกษาศาสตร์และได้เป็นคุณครูในปัจจุบัน และช่วงระหว่างเรียนนั้นก็ได้ทำกิจกรรมมากมายและก็มีอุปสรรคมากเช่นกัน อย่างกิจกรรมที่ลงไปในพื้นที่ที่มีกรอบในเรื่องศาสนาและจะโดนผู้นำศาสนาปฏิเสธบ่อยครั้งเพราะเชื่อว่าสิ่งที่เข้ามาในกิจกรรมเอง ทางครอบครัวก็มีชุดความคิดเก่าๆคือ คิดว่าคนนำกระบวนกิจกรรมเป็นกะเทย ผู้เข้ากิจกรรมที่มาร่วมเข้าร่วมจะเป็นกะเทยด้วยไหม ซึ่งไม่ได้มองว่ากิจกรรมนั้นได้สอดแทรกด้วยเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ตระหนัก เคารพ เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศ ลูกพีชยังเล่าอีกว่า กิจกรรมที่เข้าไปทำในพื้นที่เหมือนเป็นพื้นที่ในการรับฟัง ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ปกครอง ไม่ไปตัดสิน รับฟังด้วยความตั้งใจ อยู่กับเขา ทำความเข้าใจและเรียนรู้กับเขา และลูกพีชยังฝากทิ้งท้ายอีกว่างาน ไพร์ดเยาวชน ที่จัดขึ้นทุกปี ที่มาจากแนวคิดของเยาวชนและเพื่อนสนับสนุนความคิดกระบวนการของเรา เป็นกิจกรรมที่เยาวชนมีส่วนร่วมจริงๆ ในปีถัดๆไป อยากให้ภาครัฐมาเข้ามาสนับสนุนพวกเราด้วย

          จะเห็นว่าเวทีเสวนานี้กับตัวแทนเยาวชนที่ร่วมเสวนาได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังได้เช่นกัน ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่หนึ่งในเยาวชนที่มาเข้าร่วมเสวนาในเวที แต่ยังมีเยาวชนที่เป็นแรงบันดาลใจอีกหลายคนในเวทีที่ไม่ได้กล่าวถึง อย่างเสวนาช่วงที่ 2 อย่าง ลีโอพัตรา กล่าวในเวทีเสวนาว่าการที่ทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เป็นแดร็กควีนคนแรกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะว่าคนชอบจำกัดความ ศิลปะ การแต่งตัว ศิลปะการแต่งเพื่อที่จะเป็นบรรทัดฐานในการแสดง การมีแรงบันดาลใจในการเป็นแดร็กควีนตัวจริง คือตอนเด็ก ได้มีโอกาสเข้าไปดูรายการแดร็กทำให้เกิดความชอบ ความใช่ คือที่ของเรา คือเป็นของเรา แต่ก็มีอุปสรรคที่ต้องปรับอย่างมาก ทำอะไรต้องคิดหน้าคิดหลังและมีเรื่องปัจจัยในการทำงานที่ต้องลงทุน ไม่ใช่งานของคนทั่วไปจะทำได้ ลีโอพัตรายังให้ความหมายของคำว่า แดร็ก คือ ชีวิต เราเจอตั้งแต่อายุน้อยๆมาก รายได้หลักก็มาจากการเป็นแดร็ก สามารถก็ส่งต่อถ่ายทอดทักษะการเป็นแดร็กได้ ไม่ใช่แค่สร้างตัวเอง แต่สามารถสร้างคนอื่นได้ด้วย ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของวงการแดร็ก ตอนนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเติบโตตามเวลา มันไม่ได้ง่าย ต้องใช้เงิน ใช้ใจ มีศิลปินที่เก่งเยอะมาก มีอาชีพหลักได้เพราะเรามองถึงมีคุณค่าในการใช้ชีวิต แค่เห็นเราก็มีความสุข

          นอกจากนี้แล้วในช่วงบ่ายก็มีกิจกรรม Workshop ที่น่าสนใจอย่าง ศิลปะป้องกันตัว เป็น Workshop ที่ตอบสนองที่สิ่งที่อยู่บนตรงหน้า ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเราจะต้องใช้ทักษะการเอาตัวรอด การหนี ว่าเราจะทำการสู้ การพูดเพื่อให้เอาตัวรอด ทักษะทั้งหมดนี้ สามารถเอาตัวรอดได้

          และยังมีบูธมากกว่า 20 องค์กรภาคีเครือข่ายมาร่วมโชว์และมาร่วมจัด อย่างเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) ที่มีกิจกรรมในบูธอย่าง แสดงความคิดเห็นเขียนความรู้สึกผ่านป้ายไวนิล ซึ่งมีข้อความที่น่าสนใจและประทับใจของผู้ที่มาแสดงความคิดเห็น อย่างประโยคที่ว่า “โอบรับความกลุ่มชาติพันธุ์ LGBTQ+” “อยากเติบโตอย่างงดงามกับโลกที่มีความหลากหลาย” และยังมีให้ถักคังดงจากไหมพรมหลากสีเหมือนการเชื่อมร้อยในความหลากหลายให้สามารถอยู่ด้วยกันได้

          ช่วงสุดท้ายของงานตัวแทนเยาวชนความหลากหลายทางเพศ 8 คน ได้กล่าวแถลงการณ์ข้อเสนอแนะ หนึ่งในนั้นมีตัวแทนของรองประธานของเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองและผู้ประสานเครือข่าย ทั้ง 8 คน ร่วมกันแถลงการณ์ข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐ โครงสร้างทางสังคม ข้อเสนอต่อความรุนแรงในที่ทำงาน ข้อเสนอต่อสถานศึกษา รวมถึงข้อเสนอต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          จะเห็นว่างานตลอดสองวันนี้นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม