เครื่องปั่นไฟหลายเครื่องถูกวางเรียงรายพร้อมถังน้ำมันเพื่อปั่นกระแสไฟแทนไฟฟ้า รถปิ๊กอัพขับเคลื่อนสี่ล้อถูกเตรียมไว้เพื่อลำเลียงผู้คนผ่านเส้นทางทุรกันดารที่ตั้งใจมาร่วมงาน “เทศกาลกาแฟแม่จันใต้ ครั้งที่ 1” ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านแม่จันใต้ อำเภอแม่สรวย ชุมชนอ่าข่าเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ที่มีประชากรราวสามร้อยคน ถึงแม้ชุมชนแห่งนี้ยังไร้ไฟฟ้า ถนนยากลำบาก แต่สามารถผลิตกาแฟคุณภาพป้อนตลาดในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำสร้างเงินหมุนเวียนได้เกือบปีละ 150 ล้านบาท

งานเทศกาลกาแฟแม่จันใต้ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 – 16 เมษายน ที่ผ่านมา เคียงคู่กับงานประเพณีประจำปีของชนเผ่าอ่าข่า “ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อ่าโผ่ว” ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีในชื่อ “งาเทศกาลไข่แดง” มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ทั้งพี่น้องอ่าข่าจากชุมชนใกล้เคียง นักชิมและเจ้าของกิจการร้านกาแฟระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งนี้อาจเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่มีการประชันคุณภาพกาแฟกันเองในระดับชุมชน โดยปกติเรามักจะเห็นการแข็งขันระหว่างหมู่บ้าน หรือในระดับตำบลขึ้นไป
“งานครั้งนี้เกิดจากความตั้งใจของเยาวชน ที่อยากนำกาแฟของตนเองมาทดลองแข่งขันกัน เพื่อที่จะดูว่ากาแฟที่ตัวเองทำออกมานั้นมีคุณภาพอย่างไรบ้าง และเราก็เลือกจัดในช่วงนี้ควบคู่งานประเพณีประจำปีของอ่าข่า เพราะเราอยากให้เห็นว่าบ้านแม่จันใต้มีของดีคือสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และกาแฟ”

สันติกุล จือปา ประธานกรรมการหมู่บ้านแม่จันใต้ และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าก๊อ อธิบายถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งบอกว่าที่งานครั้งนี้สำเร็จได้ เพราะมีหลายฝ่ายช่วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มสหายกาแฟ โดยการประสานงานของลี อายุ จือปา ลูกหลานแม่จันใต้ และข้าวของแบรนด์กาแฟชื่อดัง “อ่าข่า อ่ามา” ที่ชักชวนผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟมาร่วมเป็นกรรมการชิม และตัดสินการประกวดในครั้งนี้ สันติกุลย้ำว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศนับสิบคนมายังชุมชนเล็ก ๆ หากไม่ได้การประสานงานของลี
สันติกุลเล่าต่อว่า แม้จะเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานใหญ่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 229 คน หรือจำนวน 43 ครัวเรือน แต่โดยภาพรวมแล้วถือว่างานออกมาดีกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะมีชาวบ้านส่งตัวอย่างกาแฟของตนเองเข้ามาแข่งขันมากถึง 30 ชุด และมีคนสนใจมาร่วมงานจากหลากหลายที่ ทั้งกลุ่มคนรักกาแฟในจังหวัดเชียงราย มีคนมาจากเชียงใหม่ และบางคนก็เดินทางมาไกลจากกรุงเทพมหานคร โดยนอกจากการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว ชาวบ้านเองก็สมทบทุนช่วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าอาหารและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำมาปั่นกระแสไฟตลอดงาน เนื่องจากบ้านแม่จันใต้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แม้จะเคยทำเรื่องขอไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังติดข้อจำกัดทางกฎหมายเนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

งานแม่จันใต้ Coffee Fest ไม่ใช่การแข่งขัน แต่เป็นการยกระดับกาแฟแม่จันใต้
สิรวิชญ์ สิริโชควัฒนกุล เจ้าของแบรนด์กาแฟ “จอซาโด ฟาร์ม” (Jorsado Farm) และหนึ่งในผู้ร่วมประกวดกาแฟในครั้งนี้ ยืนยันอีกเสียงว่า งานเทศกาลกาแฟแม่จันใต้ครั้งนี้ เป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อการแข่งขันเอาชนะกัน แต่เกิดจากกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ อยากทดสอบคุณภาพและฝีมือการสร้างกาแฟคุณภาพของตนเอง โดยแต่ละคนได้ลงมือทำเองตั้งแต่การปลูก การแปรรูปด้วยกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งการคั่วด้วยตนเอง เพราะมองว่าในอนาคตกาแฟสารธรรมดาอาจถึงทางตัน เพราะสู้อุตสาหกรรมกาแฟขนาดยักษ์ไม่ได้
“แม่จันใต้ถึงเวลาที่เปลี่ยนสู่อีกยุคแล้ว เด็ก ๆ รุ่นใหม่อาจไม่สนใจถางหญ้าพรวนดินต้นกาแฟด้วยตัวเองเหมือนรุ่นผม แต่เขาจะใช้แรงงานเข้ามาทำส่วนนี้ แล้วเอาเวลาไปศึกษาการพัฒนากาแฟได้ได้คุณภาพ ทำแบรนด์ทำการตลาดจากความรู้ที่ได้เรียนมา คนที่นี่ไม่เคยหยุดพัฒนา”
สิรวิชญ์มองว่าคนรุ่นใหม่ของหมู่บ้านไม่ได้ทิ้งอาชีพกาแฟแน่นอน แต่กำลังศึกษาหาทางสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อปลดแอกตนเองจากการต้องเข้าไปสู่ราคาตามกลไกตลาดที่ถูกตั้งโดยบริษัทรายใหญ่ โดยแทบทุกหลังคาเรือนเรียนรู้การแปรรูปเอง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการแปรรูปแบบเปียก (Washed Process) การ แปรรูปแบบแห้งตามธรรมชาติ (Dry Natural Process) และการแปรรูปแบบผสมหรือแบบน้ำผึ้ง (Pulped Natural or “Honey” Process) และมีบางส่วนที่นำไปคั่วเองด้วย ปัจจุบันชาวบ้านแม่จันใต้สามารถเก็บเกี่ยวกาแฟผลสดได้ปีละ 90 ตัน เมื่อคำนวณการต่อยอดราคาไปทีละขั้น ตั้งแต่การแปรรูปออกมาเป็นกะลา การนำไปคั่ว จนกระทั่งชงขายเป็นแก้วหน้าร้าน กาแฟที่มีต้นทางจากบ้านแม่จันใต้จะสามารถสร้างเงินสะพัดในตลาดกาแฟได้มากถึงปีละ 150 ล้านบาทเลยทีเดียว ทั้งนี้ยังไม่รวมยอดขายจากกลุ่มชาวบ้านที่ทำแบรนด์กาแฟคุณภาพในชุมชนที่มีมากถึง 15 แบรนด์ โดยราคาขายกาแฟสาร (Green bean) เริ่มต้นที่ 500 – 3,000 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์กาแฟและกระบวนการแปรรูป ส่วนตัวของสิรวิชญ์มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะที่รับซื้อกาแฟพร้อมคั่ว สายพันธุ์เกชา (Gesha) อยู่ที่กิโลกรัมละ 6,000 บาท
“ของผมจะไม่เน้นเชิงปริมาณ แต่เน้นการทำกาแฟคุณภาพ มีความยั่งยืนและอยู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัว ดังนั้นผมจึงใช้คุณภาพตั้งราคา การขายกาแฟไม่ได้อยากตั้งราคาเท่าไหร่ก็ทำได้ เพราะมีระบบตรวจสอบคุณภาพที่ชัดเจน”
สิรวิชญ์กล่าว พร้อมเท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นในการทำกาแฟว่า เพิ่งเข้าสู่วงการกาแฟได้ประมาณ 15 ปี เป็นการศึกษาต่อยอดจากสวนกาแฟที่พ่อแม่เคยปลูกไว้ โดยในช่วง 5 ปีแรก พยายามเรียนรู้การเพาะกล้า ขยายพันธุ์ เรียนรู้สายพันธุ์กาแฟพิเศษ รวมทั้งศึกษาการปลูกกาแฟแบบอินทรีย์ เพราะตนอยากทำกาแฟเพื่อสุขภาพ จึงเป็นที่มาของแบรนด์กาแฟ Jorsado ที่แปลว่ามีความสุขในภาษาอ่าข่า

เมื่อถามถึงมุมมองส่วนตัวว่า อะไรที่ทำให้กาแฟแม่จันใต้มีความพิเศษ เขามองว่าหลัก ๆ แล้วมีอยู่สามปัจจัย ด้านแรก คือมีพื้นที่ดี ด้วยภูมิศาสตร์ของบ้านแม่จันใต้มีลักษณะเป็นป่าต้นน้ำ ตั้งอยู่บนความสูงที่ประมาณ 1,350 – 1,600 เมตรจากระดับทะเล รวมทั้งมีภูเขาคอยบังแสงแดดไม่ให้ร้อนจัดเกินไป ซึ่งภูมิลักษณะเช่นนี้เหมาะสมกับการปลูกกาแฟอาราบิก้าอย่างมาก
ประการต่อมา คือ ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เพราะชาวบ้านแม่จันใต้ มีกติกาชุมชนในการดูและป่าไม้อย่างชัดเจน มีการแบ่งพื้นที่ป่าอนุกรักษ์ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย และพื้นที่ป่าฟื้นฟู่อย่างเป็นระบบ ขณะที่ชาวบ้านเองก็ช่วยกันทำแนวกันไฟ เฝ้าระฟังไฟป่า จัดกิจกรรมบวชป่าเป็นประจำทุกปีด้วย ดังนั้นด้วยความชุ่มชนจากผืนป่า ประกอบกับการปลูกกาแฟในสวนไม้ผลเมืองหนาว จึงทำให้รสชาติกาแฟของแม่จันใต้มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้วยกลิ่นผลไม้ดอกไม้ต่าง ๆ หรือเรียกว่า “Fruity Taste” นั่นเอง
ประการที่สาม ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด มากกว่าแค่การสร้างสตอรี่เพื่อการขาย คือ การที่ชาวบ้านมความรู้จริงในเรื่องของกาแฟ และสามารถรักษาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อมีคนได้ยินชื่อกาแฟแม่จันใต้ ก็จะมีความมั่นใจในคุณภาพระดับหนึ่งแล้ว
“จุดแข็งของกาแฟแม่จันใต้คือชาวบ้านมีความรู้ รู้ว่ากาแฟที่ดีต้องเริ่มต้นจากการดูแลที่ดี มีสวนที่ดี มีความรู้เรื่องการแปรรูป เพราะชีวิตยุ่งเกี่ยวกับกาแฟอยู่ทุกวัน รู้ว่ากาแฟที่ดีมีที่มาที่ไปอย่างไร และเมื่อเลือกที่จะยึดอาชีพนี้เป็นหลัก เขาก็ต้องมีการพัฒนาตัวเองด้วย” สิรวิชญ์กล่าวทิ้งท้าย







เช่นเดียวกับทางสันติกุล ที่มองว่ามนต์เสน่ห์ หรือ จุดแข็งที่นำมาสู่การจัดงานในครั้งนี้คือต้นทุนของบ้านแม่จันใต้ ที่มีกาแฟที่มีคุณภาพ อัตลักษณ์วัฒนธรรมโดดเด่น และมีระบบการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่เข้มแข็ง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่มีประโยชน์เกื้อกูลกัน เขาเสริมว่าเมื่อดูจากจำนวนวันและเวลาที่ชาวบ้านแม่จันใต้ทุ่มเทไปกับการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติในแต่ละปี เช่น การลาดตระเวนป้องกันไฟป่า การทำแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำ และจัดกิจกรรมบวชป่า ทั้งหมดนี้หากคำนวนออกมาเป็นจำนวนเงิน จะถือว่าชาวบ้านแม่จันใตใช้งบในการช่วยรัฐดูแลทรัพยากรธรรมชาตินับแสนบาทต่อปีก็ว่าได้
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย:

สนับสนุนกระบวนการฝึกอบรมโดย:

