ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์

เมื่อปีที่แล้วในวันที่ 9 กันยายน 2566 เยาวชนนักศึกษาม้งจากชมรมม้งของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ได้มีการรวมตัวและจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง (Hmong YOLO Gen Z) ด้วยความคาดหวังเดียวกันว่า การรวมพลังผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน จะสามารถขับเคลื่อนสังคมม้งให้ไปถึงจุดแห่งศักดิ์ศรีของเด็กและเยาวชนม้ง

อุปสรรคในการศึกษาของเยาวชนชนเผ่าม้ง

ฉันชื่อ เปีย ศรสวรรค์ วัจน์นาถรุ่งโรจน์ ประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง ฉันเกิดและเติบโตมาในชุมชนม้งเล็กๆ กลางหุบเขาติดชายแดนไทย-ลาว ในเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีคุณพ่อเป็นนักการเมืองท้องถิ่น และคุณแม่ เป็นแม่บ้านหัวก้าวไกล ที่สร้างโอกาสให้ลูกๆ โดยไม่ต้องรอโอกาสจากใคร ฉันมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน แม่มักจะเล่าให้ฟังอยู่บ่อยครั้งว่า เมื่อครั้งยังเด็กแม่ชอบเรียนหนังสือมากและมีผลการเรียนที่ดีมาตลอดแต่เมื่อตาและยายเสียสถานะครอบครัวก็แย่ลงพี่น้องต้องพึ่งพากันเองจึงทำให้แม่ต้องออกจากการศึกษาในวัยเพียง 9ขวบในวันที่แม่มีครอบครัวจึงอยากสร้างโอกาสให้ลูกๆ โดยเฉพาะโอกาสทางการศึกษา เพราะฉะนั้นการให้ลูกออกไปใช้วิตข้างนอกจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่ของพ่อแม่เพื่อเปิดโอกาสการศึกษาของลูก เป็นความเจ็บปวดที่หลายๆ ครอบครัวในพื้นที่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลต้องเผชิญ ลูกหลานต้องออกจากอกพ่อแม่ จากภูมิลำเนาเพื่อไปอยู่เล่าเรียนในเมือง เพื่อคำว่า “อนาคต” เพราะการศึกษาที่ไม่ครอบคลุมและสวัสดิการที่ไม่ทั่วถึง เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี

ร.ศ.ดร.ประสิทธิ์ ลีปรีชา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคทำให้เด็กและเยาวชนม้งเข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดีได้นั้นมีอยู่ 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกเป็นปัจจัยด้านสภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนม้งส่วนใหญ่มักตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกลตัวเมืองและอำเภอ  เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ  แม้ในชุมชนจะมีโรงเรียน แต่ก็เป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ ขาดอุปกรณ์และบุคลากรที่ดี อีกทั้งยังขาดความต่อเนื่องในการสอนจากการย้ายสถานฝึกสอนของครูในชุมชนพื้นที่สูงและห่างไกล ส่งผลทำให้คะแนนการเรียนของเด็กไม่ดี เมื่อมีการสอบแข่งขันวัดระดับก็ยากที่จะประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือพ่อแม่ไม่เห็นผลสำเร็จจากการศึกษา จึงไม่ใส่ใจส่งต่อการศึกษาให้กับลูก

ปัจจัยที่สองคือปัจจัยค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ ขาดความเข้าใจและการวางแผนการศึกษาให้กับลูกได้ การไม่ได้รับการศึกษาของพ่อแม่ทำให้พ่อแม่ขาดความทุ่มเทและให้ความสำคัญต่อการศึกษา อีกทั้งยังไม่สามารถเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการเรียนให้กับลูกได้

ปัญหาอุปสรรคปัจจัยที่ 3 คือวัฒนธรรมการอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยเฉพาะบุตรชาย การปล่อยปละละเลยให้ลูกชายมีอิสระในการออกจากบ้านตั้งแต่เล็ก เป็นความเสี่ยงที่จะออกไปเถลไถลกับเพื่อน ทำให้ขาดวินัยในตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของการเรียน ทำให้ไม่สามารถสอบเข้าสู่สถานศึกษาในระดับต่อไปได้ เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูบุตรทำให้ลูกผู้ชายในยุคปัจจุบันประสบผลสำเร็จน้อยลง

ปัจจัยสุดท้ายหนีไม่พ้นในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายในการเรียน สังคมม้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร รายได้ประจำนั้นไม่ได้มากและมั่นคง ถึงแม้จะมีบางส่วนที่มีรายได้มาก แต่พ่อแม่ไม่ยอมเอามาลงทุนต่อการส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่ดีและการเรียนในระดับสูง มักจะคิดว่าการลงทุนกับการศึกษานั้นต้องใช้ระยะเวลานาน ไม่รู้ว่าลงทุนกับการศึกษาแล้วจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน  จึงทำให้พ่อแม่บางส่วนเลือกลงทุนกับอย่างอื่นมากกว่าการศึกษาของลูก

ร.ศ.ดร.ประสิทธิ์ ได้กล่าวต่อว่าสำหรับครอบครัวที่มีฐานะและพ่อแม่มีการศึกษา จะให้ความสำคัญและส่งลูกเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดี เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสเข้าสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 

“ลูกของแม่ต้องได้รับการศึกษาที่ดีกว่าพ่อและแม่”

คือคำพูดที่แม่บอกฉันทุกครั้งที่กลับบ้าน ทำให้ฉันได้ฉุดคิดว่า ทำไมการศึกษาที่ดีถึงไม่ใกล้บ้าน และทำไมอนาคที่ดีต้องเริ่มจากข้างนอก  เด็กและเยาวชนควรได้อยู่กับพ่อแม่และชุมชน เพราะถ้าระบบยังเป็นแบบนี้ต่อไป โอกาสที่คนรุ่นใหม่จะออกจากชุมชนคงมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ปิตาธิปไตย วัฒนธรรมที่ลดทอนศักดิ์ศรีของผู้หญิงในชนเผ่าม้ง

ไม่เพียงแต่ปัญหาจากระบบจากภายนอกที่กระทบต่อวิถีชีวิตคนม้งรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ปัญหาภายในสังคมม้ง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำลังถีบส่งให้เยาวชนม้งออกจากชุมชน ขาดความภาคภูมิใจในการเป็นม้งและไม่รู้จักรากเหง้าของตัวเอง จากโครงสร้างทางสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ที่ลดทอนศักดิ์ศรีผู้หญิงและเด็ก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนม้งในเมืองที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการออกจากชุมชนและไม่หวนคืนกลับ 

กัลยา จุฬารัฐกร ผู้ประสานงานเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า สิ่งที่กระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นคนของคนม้งโดยเฉพาะผู้หญิงม้งนั้น มาจากระบบความคิดความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากสมัยก่อนที่เชื่อว่า

“ผู้หญิง สู้ ผู้ชายไม่ได้”

ทำให้การให้ความสำคัญระหว่างลูกสาวและลูกชายไม่เท่ากัน เกิดการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องของผู้ชายต่อผู้หญิงในหลายๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือความรุนแรง แนวคิดปิตาธิปไตยให้อำนาจต่อความเป็นชายทำร้ายความรู้สึกของผู้หญิง สร้างความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง และด้อยค่าในการเกิดมาเป็นหญิง อีกทั้งยังเอารัดเอาเปรียบ ลำเอียงในการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าที่จะต่อต้านและทำอะไรใหม่ๆ หรือทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะหากมีการต่อต้าน สังคมจะตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงที่ก้าวร้าว การมองว่าผู้หญิงสู้ผู้ชายไม่ได้นั้น ลดบทบาทความสำคัญของผู้หญิง เกิดการปิดกั้นพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงม้ง

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ฉันเริ่มฉุดคิดว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง และประจวบเหมาะกับช่วงจังหวะที่ดี ที่ได้มีโอกาสมารู้จักกับสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(ศ.ว.ท.) หรือสมาคมอิมเปค การได้มารู้จักสมาคมอิมเปคเหมือนได้สานฝันให้กับตัวเองที่อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อชนชาติพันธุ์ของตัวเอง และโดยการนำของสมาคมอิมเปคทำให้มีการรวมตัวของนักศึกษาม้งจากชมรมม้งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคเหนือตอนบน และจัดตั้งเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง (Hmong YOLO Gen Z)

บทบาทประธานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง (Hmong YOLO Gen Z) ฉันได้นำทีมประชุมวางแผนยุทธศาสตร์เครือข่าย และจัดอบรมพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำให้กับแกนนำเยาวชนม้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคณะทำงาน และเปิดพื้นที่ให้แกนนำได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการพูดต่อสาธารณชน ทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ทักษะการเป็นพิธีกร ทักษะการเป็นผู้เอื้อกระบวนการ และทักษะการพัฒนาโครงการ

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้สร้างตัวตนโดยการเปิดตัวอย่างเป็นทางการให้กับทั้งองค์ภาคีและเครือข่ายภาคีของม้ง ซึ่งจากการสร้างตัวตนทำให้เยาวชนม้งได้เข้าไปมีบทบาทในการทำงานกับเครือข่ายภาคีม้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมม้ง สมาคมม้ง เครือข่าย 18 ตระกูลแซ่ และเครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย

การได้เข้าไปมีบทบาทในโครงสร้างเครือข่ายภาคีม้ง เป็นเหมือนประตูบานแรกที่จะนำเราไปสู่อีกก้าวของความสำเร็จตามความคาดหวังของเยาวชนม้ง เพราะว่าโครงสร้างสังคมที่ชายเป็นใหญ่มีอิทธิพลในบทบาทผู้นำม้งที่เข้มข้น จึงเป็นการยากที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเครือข่ายภาคีผู้ใหญ่

ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา ฉันและเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาชาติพันธุ์ม้ง (Hmong YOLO Gen Z) มีการจัดทำโครงการต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาเพื่อพัฒนาขีดความสามารถและเรียนรู้จักวิธีการทำงานในด้านต่างๆ เพื่อจะสามารถหนุนเสริมแผนงานของเครือข่ายฯ 

ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ทำให้ฉันและทีมถูกยกระดับความสามารถจากกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้จัดโครงการ เราสามารถพัฒนาและบริหารจัดการโครงการ เราสามารถออกจากเซฟโซนของตัวเองและท้าทายตัวเองกับบทบาทใหม่ๆ และยังสามารถรวมกลุ่มเยาวชนจากที่ใหม่ๆ เข้ามาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมม้งกับความหวังในการเปลี่ยนแนวคิด ที่ส่งผลลบต่อวิถีชีวิตของเราควบคู่ไปกับการสืบสานวัฒนธรรมที่ดี

ฉันในนามตัวแทนเยาวชนม้งรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนประเด็นเด็กและเยาวชน ยังมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเพื่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของเราจะไม่ถูกเพิกเฉย เพื่อความภาคภูมิใจต่อรากเหง้า เพื่อความเป็นอยู่อย่างเท่าเทียม อยากให้สังคมม้งได้มีการปฏิรูปอย่างจริงจังต่อระบบความคิดความเชื่อเดิมที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของเยาวชนม้งคนรุ่นใหม่ ความคิดที่แบ่งแยก ความเชื่อที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคน และระบบที่ลิดรอนสิทธิผู้อื่น เพื่อคนรุ่นใหม่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นม้ง

บทความนี้ได้รับการสนับสนุนโดย: Diakonia ภายใต้โครงการ: Re-thinking Democracy – Trak

Disclaimer: This publication was produced with the financial support of Diakonia. Its contents are the sole responsibility of Ton Kla Indigenous Children and Youth Network (TKN) and Inter Mountain Peoples Education and Culture in Thailand Association (IMPECT) and do not necessarily reflect the views of Diakonia.